บทคัดย่องานวิจัย

เงื่อนไขที่กำหนดคุณภาพการสีและราคาข้าว

มานพ ลีสวัสดิ์วงศ์

วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2548. 155หน้า.

2548

บทคัดย่อ

เงื่อนไขที่กำหนดคุณภาพการสีและราคาข้าว

ประชากรโลกมากกว่าครึ่งหนึ่งบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก โดยในอนาคตความต้องการบริโภคข้าวจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากประชาการที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของรายได้ของผู้บริโภคจำทำให้ความต้องการต่อข้าวที่มีคุณภาพดีมากกว่าปริมาณที่จะบริโภค ซึ่งการผลิตข้าวที่มีคุณภาพจะทำให้เกษตรกรได้รับค่าตอบแทนจากการขายข้าวได้เพิ่มขึ้น

ในการศึกษานี้ได้ประเมินลักษณะทางคุณภาพที่มีผลต่อราคาข้าว โดยเก็บตัวอย่างข้าวหอมมะลิ พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 จากแปลงเกษตรกรในภาคเหนือตอนบน คือ จังหวัดเชียงใหม่ และ เชียงราย และภาคเหนือตอนล่าง คือ จังหวัดนครสวรรค์ และข้าวพันธุ์ กข 6 จากจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย ตัวอย่างข้าวเปลือกที่เก็บมา นำมาประเมินคุณภาพการสีและนำไปประเมินลักษณะทางคุณภาพและราคาโดยผู้รับซื้อข้าว พบว่าข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 จากจังหวัดเชียงใหม่ได้รับราคาสูงกว่าจากจังหวัดนครสวรรค์ เนื่องจากมีระดับความหอมสูงกว่า แม้ว่าข้าวจากจังหวัดนครสวรรค์จะมีเปอร์เซ็นต์ไม่หักสูงกว่าข้าวจากจังหวัดเชียงใหม่ก็ตาม ผลผลิตต้นข้าว (ข้าวเมล็ดเต็มหรือข้าวที่มีส่วนของเมล็ดเกินสามในสี่ส่วนของเมล็ดเต็ม) เป็นปัจจัยที่กำหนดราคาข้าวของข้าวเมื่อข้าวมีความหอมเท่ากันหรือว่าไม่หอมเหมือนกัน

ขณะที่การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนชี้ให้เห็นว่าสามารถเพิ่มผลผลิตต้นข้าวหลังการสี แต่การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนลดการหักได้อย่างไรนั้นยังไม่มีข้อมูลมาสนับสนุน ด้วยเหตุนี้จึงทำการทดลองในแปลง จำนวน 2การทดลองที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยให้ปุ๋ยไนโตรเจนหลายระดับและเก็บเกี่ยวที่ระยะเวลาต่างกัน เพื่อศึกษาผลของการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนและระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวต่อคุณภาพการสีของข้าวพันธุ์การค้าของไทยจำนวนสี่พันธุ์ โดยใช้พันธุ์คลองหลวง 1ชัยนาท 1ในการทดลองที่ 1และการใช้พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 คลองหลวง 1ปทุมธานี 1และชัยนาท 1ในการทดลองที่ 2ซึ่งพบว่าการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนจะเพิ่มความเข้มข้นของไนโตรเจนในเมล็ดข้าวทั้งสี่พันธุ์ แต่ผลต่อเปอร์เซ็นต์ต้นข้าวจะแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ โดยการเพิ่มปุ๋ยไนโตรเจนจะลดเปอร์เซ็นต์ข้าวไม่หักในพันธุ์ชัยนาท 1และคลองหลวง 1และลดลงเล็กน้อยในพันธุ์ปทุมธานี 1แต่ไม่มีผลต่อเปอร์เซ็นต์ข้าวหักในพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 โดยเปอร์เซ็นต์ต้นข้าวในพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105นั้นสูงกว่า 90% แล้วแม้ไม่ได้ใส่ปุ๋ยไนโตรเจน การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนจึงไม่เพิ่มเปอร์เซ็นต์ข้าวไม่หักในพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105นอกจากนี้ยังพบว่า เปอร์เซ็นต์ข้าวไม่หักยังแสดงความสัมพันธ์แบบกำลังสองกับความชื้นขณะเก็บเกี่ยวในข้าวทั้งสี่พันธุ์ แต่ความชื้นขณะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมในแต่ละพันธุ์จะแตกต่างกัน โดยความชื้นขณะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมสำหรับพันธุ์คลองหลวง 1ปทุมธานี 1ขาวดอกมะลิ 105 และชัยนาท 1คือ 26, 25, 23 และ 20% ตามลำดับ

ได้ศึกษาเพื่ออธิบายว่าความเข้มข้นของไนโตรเจนในเมล็ดที่เพิ่มขึ้นสามารถลดการหักของข้าวในระหว่างการสีข้าวได้อย่างไร โดยได้ศึกษาถึงความเข้มข้นของไนโตรเจนในเมล็ดต่ำ (1.4%N) และ สูง (2.1%N)ของข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 คลองหลวง 1ปทุมธานี 1และชัยนาท 1จากการทดลองที่ 2ต่อลักษณะทางกายภาพ โครงสร้างภายในเมล็ด ปริมาณ soluble โปรตีน และการสะสมและการกระจายตัวของ storage โปรตีนในเมล็ดข้าว ซึ่งพบว่าความเข้มข้นของไนโตรเจนในเมล็ดไม่มีผลต่อลักษณะทางกายภาพและโครงสร้างภายในเมล็ดข้าว แต่มีผลต่อปริมาณ solubleและ storageprotein และขนาดของเมล็ดแป้ง โดยข้าวที่มีความเข้มข้นของไนโตรเจนในเมล็ดสูงจะทำให้ความเข้มข้นของ soluble โปรตีนในเมล็ดสูง และมีปริมาณ  storage โปรตีน มากกว่าข้าวที่มีความเข้มข้นของไนโตรเจนในเมล็ดต่ำ นอกจากนี้จะทำให้เมล็ดแป้งในข้าวมีขนาดลดลงเล็กน้อยในข้าวที่มีความเข้มข้นของไนโตรเจนในเมล็ดสูง และพบว่าความเข้มข้นของ glutelin  ในเมล็ดข้าวจะมีความสัมพันธ์ในทางบวกกับความเข้มข้นของไนโตรเจนในเมล็ด และเปอร์เซ็นต์ข้าวไม่หัก แต่ไม่พบความสัมพันธ์ข้างต้นกับความเข้มข้นของ prolamin และ albumin-globulin และท้ายที่สุดพบว่าเมื่อเพิ่มความเข้มข้นของไนโตรเจนในเมล็ดจะเพิ่มปริมาณการสะสมและการกระจายของ storage โปรตีนในส่วนผิวของเมล็ดข้าวของข้าวทุกพันธุ์ มากไปกว่านั้น ที่ความเข้มข้นของไนโตรเจนในเมล็ดต่ำพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 มีปริมาณการสะสมของ storage โปรตีนที่บริเวณด้านข้างของเมล็ดมากกว่าอีกสามพันธุ์ที่เหลือ ปริมาณการสะสมของ storage โปรตีนที่บริเวณด้านข้างของเมล็ดนั้นพบว่ามีความสัมพันธ์กับผลผลิตต้นข้าว คือเมล็ดที่มีโปรตีนตามผิวมากจะหักน้อยเมื่อนำไปสี

การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า ปริมาณการสะสมของ storageproteinที่บริเวณด้านข้างของเมล็ดอาจทำให้เมล็ดข้าวทนต่อการหักในขณะสีข้าว มากไปกว่านั้นผลประโยชน์อีกทางหนึ่งของการเพิ่มความเข้มข้นของ glutelinซึ่งมีความสัมพันธ์กับความเข้มข้น lysine จะ ช่วยเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการสำหรับผู้บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก การศึกษานี้สรุปได้ว่าการจัดการการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในระบบการปลูกข้าวอาจช่วย รักษาคุณภาพการสีของข้าวซึ่งการเพิ่มคุณภาพการสีข้าวจะช่วยเพิ่มรายได้จาก การขายข้าวและทำให้ชาวนามีความเป็นอยู่ที่ดีด้วย แต่อย่างไรก็ตาม การจัดการที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ผลผลิตต้นข้าวสูงยังต้องการการศึกษาเพิ่ม เติมต่อไป