บทคัดย่องานวิจัย

ผลของการใช้คลื่นเรดิโอฟรีดวอนซี่ต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์และประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อสาเหตุโรคที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์งา

ปรัชญา วาสนาเจริญ

วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2548. 98หน้า.

2548

บทคัดย่อ

ผลของการใช้คลื่นเรดิโอฟรีดวอนซี่ต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์และประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อสาเหตุโรคที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์งา

เมล็ดพันธุ์งาที่ผ่านการปรับสภาพเมล็ดพันธุ์ให้มีความชื้นเมล็ดพันธุ์เริ่มต้น 5และ 10 เปอร์เซ็นต์ ตรวจสอบคุณภาพเบื้องต้นมีเปอร์เซ็นต์ความงอกของเมล็ด 87, 82 เปอร์เซ็นต์ ความแข็งแรงของเมล็ด 73, 67เปอร์เซ็นต์ มีกิจกรรมของเอนไซม์ดีไฮโดรจีเนสเป็น 0.36, 0.34 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร และการปนเปื้อนของเชื้อรา Macrophomina phaseolina เป็น 15.00, 17.67 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ทำการให้คลื่นเรดิโอฟรีดวอนซี่แก่เมล็ดพันธุ์ ที่ความถี่ 27.12เมกะเฮิรต์ พลังงาน 810วัตต์ ที่ระดับอุณหภูมิ 5ระดับ คือ 60, 70, 80, 85 และ 90 องศาเซลเซียสเป็นระยะเวลา 180วินาที ประเมินคุณภาพด้วยการตรวจหาความเปลี่ยนแปลงของปริมาณความชื้นในเมล็ด ความสามารถในการงอก ความแข็งแรง กิจกรรมของเอนไซม์ดีไฮโดรจีเนส องค์ประกอบทางเคมีของเมล็ดพันธุ์ และการตรวจหาการคงอยู่ของเชื้อรา M. phaseolina  พบว่า การให้คลื่นเรดิโอฟรีดวอนซี่ที่อุณหภูมิ 60, 70, 80, 85, 90 องศาเซลเซียสนาน180วินาที มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพเมล็ดพันธุ์อย่างมีนัยสำคัญ โดยในเมล็ดที่มีความชื้นเริ่มต้น 5เปอร์เซ็นต์ ความชื้นลดลงเป็น 4.9, 4.6, 4.5, 4.3, 4.2  เปอร์เซ็นต์ ความงอกของเมล็ดลดลงเป็น 83, 86, 72, 66, 61 เปอร์เซ็นต์ ความแข็งแรงของเมล็ดลดลงเป็น 68, 69, 55, 48, 36 เปอร์เซ็นต์  กิจกรรมของเอนไซม์ดีไฮโดรจีเนสลดลงเป็น 0.36, 0.37, 0.33, 0.23, 0.21 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ปริมาณเชื้อรา M. phaseolina  ลดลงเป็น13.00, 9.58, 4.67, 0.25, 0.00 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ในขณะที่เมล็ดที่มีความชื้นเริ่มต้น 10เปอร์เซ็นต์ ความชื้นลดลงเป็น 9.3, 9.1, 8.8, 8.6, 8.3 เปอร์เซ็นต์ ความงอกของเมล็ดลดลงเป็น 87, 85, 57, 32, 16 เปอร์เซ็นต์ ความแข็งแรงของเมล็ดลดลงเป็น 64, 60, 33, 13, 8 เปอร์เซ็นต์  กิจกรรมของเอนไซม์ดีไฮโดรจีเนสลดลงเป็น 0.34, 0.35, 0.32, 0.22, 0.21 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ปริมาณเชื้อรา M. phaseolina  ลดลงเป็น13.83, 8.67, 2.92, 0.00, 0.00 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ และพบว่าการให้คลื่นเรดิโอฟรีดวอนซี่แก่เมล็ดที่มีความชื้นเริ่มต้น 10 ให้ผลดีกว่าเมล็ดที่มีความชื้นเริ่มต้น 15 เปอร์เซ็นต์ อย่างมีนัยสำคัญ และพบว่าที่อุณหภูมิ 85 องศาเซลเซียสคือระดับอุณหภูมิวิกฤตที่มีผลให้เปอร์เซ็นต์ต้นกล้าผิดปรกติเพิ่มขึ้นอย่าง มีนัยสำคัญยิ่งพบการเกิดลักษณะจุดด่างและภาวะชะงักการเจริญเติบโตของไฮโปรคอ ททิล พบว่าเมล็ดพันธุ์ที่มีความชื้นเริ่มต้นทั้ง 2ระดับ การให้คลื่นเรดิโอฟรีดวอนซี่แก่เมล็ดไม่มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของเมล็ดอย่างมีนัยสำคัญ ในการตรวจหาประสิทธิภาพในการควบคุมเชื้อรา M. phaseolina  ที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์ พบว่าการให้คลื่นเรดิโอฟรีดวอนซี่ทุกระดับอุณหภูมิและทั้ง 2ระดับความชื้นเริ่มต้นมีผลต่อการลดลงของปริมาณเชื้อรา M. phaseolina   อย่างมีนัยสำคัญยิ่ง ประสิทธิภาพในการควบคุมเชื้อรา M. phaseolinaในเมล็ดที่มีความชื้นเริ่มต้น 5เปอร์เซ็นต์ เป็น 14.9, 39.4, 74.0, 93.5, 100 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ และในความชื้นเริ่มต้น 10เปอร์เซ็นต์ เป็น 25.1, 50.5, 89.4, 99.8, 100 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ดังนั้นในการทดลองนี้สามารถสรุปได้ว่า การให้คลื่นเรดิโอฟรีดวอนซี่ที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสแก่เมล็ดที่มีความชื้นเริ่มต้น 10เปอร์เซ็นต์ มีความเหมาะสมในการควบคุมปริมาณเชื้อรา M. phaseolina   ในเมล็ดพันธุ์งา ซึ่งไม่ส่งผลต่อคุณภาพของเมล็ดพันธุ์โดยรวมลดลง และยังสามารถลดปริมาณเชื้อรา M. phaseolina   ลงได้ 51 เปอร์เซ็นต์