บทคัดย่องานวิจัย

ผลการยับยั้งของสารต้าน Penicillium digitatum จากแบคทีเรียที่ใช้ไคติน

พันธ์ทิพย์ โอฬารรัตน์มณี

วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิทยาศาสตร์) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2548. 76หน้า.

2548

บทคัดย่อ

ผลการยับยั้งของสารต้าน Penicillium digitatum จากแบคทีเรียที่ใช้ไคติน

งานวิจัยนี้เป็นการเพิ่มมูลค่าของ เปลือกกุ้งวัสดุเหลือทิ้งและยังเป็นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยใช้เปลือกกุ้ง เป็นอาหารเลี้ยงเชื้อแบคทีเรียเพื่อนำไปผลิตสารยับยั้ง Penicillium digitatumซึ่งเป็นปัญหาการติดเชื้อราของส้มหลังการเก็บเกี่ยว จากการคัดเลือกจุลินทรีย์จากแหล่งต่างๆจำนวน 70 ไอโซเลท โดยวิธี spot test และ cylinder plate พบว่าไอโซเลท PP-10ที่แยกจากถั่วเน่าแผ่นสามารถยับยั้ง P. digitatumได้ดีที่สุด เมื่อเจริญใน chitin broth และจากการศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยา การทดสอบคุณสมบัติทางชีวเคมี และการทดสอบโดยการใช้วิธี 16S rRNA พบว่าไอโซเลท PP-10 เป็น Bacillus subtilis  ที่ทนอุณหภูมิสูง และจากการศึกษาสภาวะการเพาะเลี้ยงที่เหมาะสมต่อการผลิตสารยับยั้งพบว่า B. subtilis  PP-10 สามารถผลิตสารยับยั้งได้ดีที่สุดเมื่อใช้ความขุ่นเริ่มต้นของเซลล์เท่ากับสารละลายมาตรฐาน McFarland หมายเลข 3ปริมาตร 0.5 มิลลิลิตร เพาะลงในอาหาร chitin broth, pH 7 ที่ทำการเติม 10% glucose (น้ำหนัก/ปริมาตร) บ่มที่อุณหภูมิ 37°C เป็นเวลา 2 วัน โดยมีค่ายับยั้งเท่ากับ 83% จากการทดสอบคุณสมบัติบางประการของน้ำกรองเลี้ยงเชื้อพบว่า น้ำกรองเลี้ยงเชื้อมีค่า exochitinase activity เท่ากับ 0.0031 U/ml, specific activity เท่ากับ 0.016 U/ml protein มีค่า endochitinase activity เท่ากับ 0.0107 U/ml, specific activity เท่ากับ 0.055 U/ml protein และมีค่า ß-1,3-glucanase activity เท่ากับ 0.079 U/ml, specific activity เท่ากับ 0.41 U/ml protein และเมื่อนำน้ำกรองเลี้ยงเชื้อมาทดสอบการยับยั้งการงอกของสปอร์พบว่า น้ำกรองที่ได้จากB. subtilis  PP-10สามารถยับยั้งการงอกของสปอร์P. digitatumได้ 63% เมื่อนำไปบ่มที่ 25°C เป็นเวลา 24ชั่วโมง และน้ำกรองเลี้ยงเชื้อจะหมดประสิทธิภาพในการยับยั้ง P. digitatum อย่างสมบูรณ์หลังจากบ่มที่อุณหภูมิน้ำเดือดเป็นเวลา 10นาที