บทคัดย่องานวิจัย

ประสิทธิภาพของสารกลุ่ม active oxygen ในการควบคุมโรคหลังการเก็บเกี่ยวของมะม่วงน้ำดอกไม้เพื่อการส่งออก

กานดา หวังชัย และจำนงค์ อุทัยบุตร

เอกสารประกอบการประชุม วันวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครั้งที่ 3 ‘วิธีวิจัย: สู่สังคมร่มรื่นและเป็นสุข’, วันที่ 23-25 พฤศจิกายน 2550 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชียงใหม่.496 หน้า.

2550

บทคัดย่อ

ประสิทธิภาพของสารกลุ่ม active oxygen ในการควบคุมโรคหลังการเก็บเกี่ยวของมะม่วงน้ำดอกไม้เพื่อการส่งออก

นำมะม่วงน้ำดอกไม้จากจังหวัดฉะเชิงเทรา มาทดสอบกับสารกลุ่ม active oxygenได้แก่ H2O2, peroxyacetic acid (PAA) และ Oxyzan zs (H2O2/PAA/acetic acid)ที่ความเข้มข้น 0.1, 0.25 และ 0.5%โดยเทียบกับชุดควบคุม (น้ำกลั่น) โดยแช่ผลมะม่วงในสารดังกล่าวเป็นเวลา 30 วินาที แล้วนำมาผึ่งให้แห้งก่อนน้ำไปเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส จากผลการทดลองพบว่าการให้สาร PAA และ Oxyzan zs ที่ความเข้มข้น 0.25%ให้ผลในการควบคุมโรคดีที่สุด เมื่อเทียบกับชุดควบคุม รองลงมาคือ ชุดที่ให้สาร PAA 0.1%โดยทุกชุดการทดลองมีการเปลี่ยนแปลงสีผิว (ดัชนีการเกิดสีเหลือง) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอดการทดลอง แต่ชุดที่ให้สาร PAA 0.1% มีดัชนีการเกิดสีเหลืองต่ำที่สุด ส่วนค่าความแน่นเนื้อ, ปริมาณของแข็งทั้งหมดที่ละลายน้ำได้ ปริมาณกรดที่ไทเทรตได้มีค่าไม่แตกต่างกัน สำหรับการทดลองที่ 2 ได้ทำการพ่นเชื้อ Collectroticumgloeosporioides ไปยังผลมะม่วงและทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง ก่อนนำไปแช่ในสาร PAA และ Oxyzan zs ที่ความเข้มข้น 0.1 และ 0.25%เทียบกับชุดควบคุมพบว่า หลังจากเก็บรักษาเป็นเวลา 5 วัน ทุกชุดการทดลองที่ให้สารสามารถควบคุมการเกิดโรคแอนแทรคโนสโดยแตกต่างจากชุดควบคุมได้อย่างเด่นชัด ดังนั้นการใช้ PAA หรือ Oxyzan zsสามารถใช้เป็นสารล้างทำความสะอาดผลมะม่วงเพื่อการส่งออกได้