บทคัดย่องานวิจัย

ผลของสารละลาย Thidiazuron และสายพันธุ์ปทุมมาต่ออายุการปักแจกันของช่อดอกปทุมมา

กุลนาถ อบสุวรรณ ปิระมิด จิตรมาตร ตรีฉัตร มูสิกะ และ อภิรดี อุทัยรัตนกิจ

บทคัดย่อ การสัมมนาวิชาการวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวแห่งชาติ ครั้งที่ 6, โรงแรมเจริญธานี ปริ๊นเซส จังหวัดขอนแก่น, 14-15 สิงหาคม 2551. 182 หน้า.

2551

บทคัดย่อ

ผลของสารละลาย Thidiazuron และสายพันธุ์ปทุมมาต่ออายุการปักแจกันของช่อดอกปทุมมา

ปัญหาของช่อดอกปทุมมาภายหลังการเก็บเกี่ยวคือ ช่อดอกมีอายุการใช้งานสั้น การทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาวิธีการยืดอายุการเก็บรักษาช่อดอกปทุมมา พันธุ์ Bangkok Pink, พันธุ์ Bangkok Ruby และพันธุ์ Laddawan หลังการเก็บเกี่ยวโดยใช้สารละลาย Thidiazuron (TDZ) ที่ความเข้มข้น 1.0, 3.0, และ 5.0 μM พบว่าสายพันธุ์ปทุมมา และความเข้มข้นของสารละลาย TDZ มีผลต่ออายุการใช้งานของช่อดอกปทุมมา โดยช่อดอกปทุมมาพันธุ์ Bangkok Pink ที่ปักแช่ในน้ำกลั่น (ชุดควบคุม) มีอายุการใช้งานนานที่สุด (14.8 วัน) และมีความแตกต่างทางสถิติกับ ปทุมมาพันธุ์ Bangkok Ruby และพันธุ์ Laddawan ที่ปักในสารละลายต่าง ๆ ซึ่งมีอายุการใช้งานเพียง 7-11 วัน อย่างไรก็ตาม ระดับความเข้มข้นของสารละลาย TDZ ไม่มีผลแตกต่างทางสถิติต่ออัตราการดูดน้ำและการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักสดของช่อดอกปทุมมา โดยช่อดอกปทุมมาพันธุ์ Laddawan ที่ปักแช่ในสารละลาย TDZ เข้มข้น 3.0 μM มีการดูดน้ำ และน้ำหนักสดของช่อดอกมากที่สุด ส่วนช่อดอกของปทุมมาพันธุ์ Bangkok Ruby ที่ปักแช่ในสารละลาย TDZ ทุกระดับความเข้มข้นมีอัตราการดูดน้ำ และการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักสดของช่อดอกไม่แตกต่างกัน