บทคัดย่องานวิจัย

ผลของอุณหภูมิและสารยับยั้งเชื้อรา (คาร์เบนดาซิม) ต่อการยืดอายุการเก็บรักษากล้วยหอมทอง ที่บรรจุร่วมกับกระดาษผงถ่านกัมมันต์

สุพัตน์ คำไทย ปรัสยา พิลึก และ วราชินี จี้รัตน์

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 39 ฉบับที่ 3 (พิเศษ). 2551. หน้า 315-318.

2551

บทคัดย่อ

ผลของอุณหภูมิและสารยับยั้งเชื้อรา (คาร์เบนดาซิม) ต่อการยืดอายุการเก็บรักษากล้วยหอมทอง ที่บรรจุร่วมกับกระดาษผงถ่านกัมมันต์

ผลของอุณหภูมิและสารยับยั้งเชื้อรา (คาร์เบนดาซิม) ต่อการยืดอายุการเก็บรักษากล้วยหอมทองที่บรรจุร่วมกับกระดาษผงถ่านกัมมันต์ ที่ระดับความเข้มข้นของผงถ่านกัมมันต์ 25 เปอร์เซ็นต์ และเก็บรักษาที่ระดับความชื้นสัมพัทธ์ 50±5%   เปอร์เซ็นต์ โดยสภาวะการเก็บรักษากล้วยหอมทองสามารถจำแนกได้ 5 สภาวะ ดังนี้ (1) การเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส โดยไม่มีกระดาษผงถ่านกัมมันต์ (2) การเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ร่วมกับกระดาษผงถ่านกัมมันต์ (3) การเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียสร่วมกับกระดาษผงถ่านกัมมันต์ (4) กล้วยหอมทองที่ผ่านการชุบสารยับยั้งเชื้อรา (คาร์เบนดาซิม) 0.1 เปอร์เซ็นต์ และเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียสร่วมกับกระดาษผงถ่านกัมมันต์ และ (5) กล้วยหอมทองที่ผ่านการชุบสารยับยั้งเชื้อรา (คาร์เบนดาซิม) 0.1 เปอร์เซ็นต์ และเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียสร่วมกับกระดาษผงถ่านกัมมันต์ จากการทดลองพบว่า สภาวะการทดลองที่ให้ผลดีที่สุด คือ การเก็บรักษากล้วยหอมทองที่ผ่านการชุบสารยับยั้งเชื้อรา (คาร์เบนดาซิม) 0.1 เปอร์เซ็นต์ ที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส ร่วมกับกระดาษผงถ่านกัมมันต์ สามารถเก็บรักษากล้วยหอมทองได้นาน 28 วัน โดยมีค่าเปอร์เซ็นต์การสูญเสียน้ำหนักน้อยที่สุด คือ 18.72 เปอร์เซ็นต์ ค่าความแน่นเนื้อมีค่ามากที่สุด คือ 72.15 นิวตันต่อตารางเซนติเมตร ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ เท่ากับ 20.5 องศาบริคซ์ ค่าการเปลี่ยนแปลงสีเปลือก มีค่า a value เป็น 10.23 และมีคะแนนคุณภาพทางประสาทสัมผัสเท่ากับ 5.8 คะแนน