บทคัดย่องานวิจัย

การประยุกต์ใช้สารดูดซับเอทิลีนจากไดอะทอไมต์เพื่อยืดอายุการเก็บรักษากล้วยหอมทอง

พรชัย ราชตนพันธุ์ พิชญาภรณ์ มูลพฤกษ์ และภัทริน วงศ์โกศลจิต

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 39 ฉบับที่ 3 (พิเศษ). 2551. หน้า 83-90.

2551

บทคัดย่อ

การประยุกต์ใช้สารดูดซับเอทิลีนจากไดอะทอไมต์เพื่อยืดอายุการเก็บรักษากล้วยหอมทอง

ในงานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะทำการยืดอายุการเก็บรักษากล้วยหอมทองโดยใช้สารดูดซับเอทิลีนที่ทำการผลิตขึ้นเองจากไดอะทอไมต์ โดยทำการผสมในอัตราส่วนของไดอะทอไมต์ ต่อสารละลายโพแทสเซียมเปอร์แมงกาเนต เท่ากับ 2:3ที่ความเข้มข้นของสารละลายโพแทสเซียมเปอร์แมงกาเนตต่างๆ ดังนี้ คือ 3%, 5%และ 7% (w/v)เมื่อผสมให้เข้ากันแล้วนำเข้าอบในตู้อบลมร้อนที่อุณหภูมิ 102±3°Cเป็นเวลา 1ชั่วโมง แล้วนำมาบดเป็นผงและอบต่อเป็นเวลา 30นาที จากนั้นบรรจุในถุงชาปริมาณ 10กรัมและนำบรรจุในซอง พอลีเอทิลีนเจาะรู โดยทำการศึกษาสารดูดซับเอทิลีนที่ผลิตขึ้นเปรียบเทียบกับสารดูดซับเอทิลีนทางการค้า ในการทดลองเก็บกับกล้วยหอมทองที่อุณหภูมิประมาณ 23°C ความชื้นสัมพัทธ์ 69%นำมาทดสอบค่าต่างๆ ต่อไปนี้คือ การสูญเสียน้ำหนักสด การเปลี่ยนแปลงค่าความแน่นเนื้อ ปริมาณกรดที่ไทเทรตได้ ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ การเปลี่ยนแปลงสีเปลือก และการยอมรับทางประสาทสัมผัส ซึ่งเมื่อทำการทดสอบแล้วพบว่า กล้วยหอมทองที่ทำการเก็บรักษาร่วมกับสารดูดซับเอทิลีนที่มีความเข้มข้นของโพแทสเซียมเปอร์แมงกาเนต 5% และ 7% สามารถชะลอการสูญเสียน้ำหนักสด การเปลี่ยนแปลงสีเปลือก การลดลงของความแน่นเนื้อ และชะลอการเพิ่มขึ้นของปริมาณกรดและปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ แต่กล้วยหอมทองที่ทำการเก็บรักษาร่วมกับสารดูดซับเอทิลีนที่มีความเข้มข้นของโพแทสเซียมเปอร์แมงกาเนต 3% ไม่สามารถชะลอการเปลี่ยนแปลงคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของกล้วยหอมทองได้ โดยกล้วยหอมทองในชุดควบคุมมีอายุการเก็บรักษาเพียง 15 วัน ส่วนกล้วยหอมทองที่ทำการเก็บรักษาร่วมกับสารดูดซับเอทิลีนที่มีความเข้มข้นของโพแทสเซียมเปอร์แมงกาเนต 7% สามารถยืดอายุการเก็บรักษากล้วยหอมทองได้ 18 วัน เท่ากับสารดูดซับเอทิลีนทางการค้า