บทคัดย่องานวิจัย

การแก่และคุณภาพผลแก้วมังกรพันธุ์เนื้อขาวและพันธุ์เนื้อแดงในสภาพการปลูกจังหวัดอุบลราชธานี

อุไรวรรณ แสงหัวช้าง และ เรวัติ ชัยราช

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 39 ฉบับที่ 3 (พิเศษ). 2551. หน้า 19-22.

2551

บทคัดย่อ

การแก่และคุณภาพผลแก้วมังกรพันธุ์เนื้อขาวและพันธุ์เนื้อแดงในสภาพการปลูกจังหวัดอุบลราชธานี

การศึกษาการแก่และคุณภาพผลแก้วมังกรพันธุ์เนื้อขาว (Hylocereus undatus) และพันธุ์เนื้อแดง (Hylocereus polyrizus) ปลูกที่สวนเกษตรกร อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี พบว่า ผลมีขนาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อผลอายุ 23-29วัน หลังจากนั้นขนาดผลจะเพิ่มขึ้นค่อนข้างคงที่เมื่อผลอายุ 35 วัน ซึ่งสัมพันธ์กับน้ำหนักผลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงผลอายุ 20-29 วัน โดยพันธุ์เนื้อขาวจะมีขนาดผลใหญ่กว่าและน้ำหนักผลมากกว่าพันธุ์เนื้อแดง มีการเปลี่ยนสีผิวผลจากสีเขียวเป็นสีแดงอย่างรวดเร็วเมื่อผลอายุ 26-32 วัน ในทั้ง 2 พันธุ์ ความหนาเปลือกในพันธุ์เนื้อขาวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 20-32 วัน ขณะที่ในพันธุ์เนื้อแดงลดลงมากกว่า 60% ในช่วง 26-32 วัน น้ำหนักเนื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วซึ่งมีความสัมพันธ์ผกผันกับน้ำหนักเปลือกที่ลดลงในทั้ง 2 พันธุ์ ความแน่นเนื้อลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อผลอายุ 26-29 วัน โดยลดลงมากกว่า 30% และ 50% ในพันธุ์เนื้อแดงและเนื้อขาว ตามลำดับ ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ (TSS) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเมื่อผลอายุ 35-38 วัน มีค่าเป็น 12% และ 9% ในพันธุ์เนื้อขาวและเนื้อแดง ตามลำดับ ปริมาณกรดที่ไตเตรตได้ (TA) เพิ่มสูงขึ้นในช่วง 20-26 วัน ก่อนที่จะลดลงต่ำกว่า 0.2% หลัง 32 วัน ในทั้ง 2 พันธุ์ มีอัตราส่วน TSS/TA ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนผลอายุ 29-38 วัน ในทั้ง 2 พันธุ์ การศึกษาในครั้งนี้ พบว่า ระยะเวลาการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมสำหรับแก้วมังกรทั้ง 2 พันธุ์ควรอยู่ในช่วง 32-35 วันหลังดอกบานจะทำให้ได้ผลที่มีคุณภาพดี