บทคัดย่องานวิจัย

การใช้กรดอะซิติก กรดเปอร์อะซิติกและเกลืออะซิเตทในการควบคุมราเขียวบนส้มสายน้ำผึ้ง

สุธนัย ภักดี และอุราภรณ์ สอาดสุด

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 38 ฉบับที่ 5 (พิเศษ). 2550. หน้า 193-196.

2550

บทคัดย่อ

การใช้กรดอะซิติก กรดเปอร์อะซิติกและเกลืออะซิเตทในการควบคุมราเขียวบนส้มสายน้ำผึ้ง

การศึกษาผลของการใช้กรดอะซิติก กรดเปอร์อะซิติก เกลือโซเดียมอะซิเตท เกลือโปแตสเซียมอะซิเตท และเกลือแอมโมเนียมอะซิเตทในการควบคุม Penicillium digitatum ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคหลังการเก็บเกี่ยวของส้ม การควบคุมการเจริญของเชื้อราก่อโรคบนอาหารแข็ง Malt Extract Agar (MEA) โดยใช้กรดและเกลือของกรดรวม 5 ชนิด พบว่ากรดและเกลือของกรดทั้งหมดสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อรา โดยความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งได้คือ กรดอะซิติก 0.5% (v/v)             กรดเปอร์อะซิติก 0.1% (v/v) เกลือโซเดียมอะซิเตท 7% (w/v) เกลือโปแตสเซียมอะซิเตท7%(w/v)และเกลือแอมโมเนียมอะซิเตท 3% (w/v) เมื่อทดสอบผลของกรดและเกลือของกรดในการยับยั้งเชื้อP. digitatum บนผลส้มสายน้ำผึ้งโดยวิธีจุ่ม    พบว่าการจุ่มในกรดอะซิติกและกรดเปอร์อะซิติกสามารถยับยั้งเชื้อราก่อโรคโดยไม่มีผลต่อคุณภาพทางกายภาพและเคมี    ของส้ม โดยความเข้มข้นและเวลาในการจุ่มที่น้อยที่สุดของกรดอะซิติกและกรดเปอร์อะซิติกที่สามารถยับยั้งโรคได้คือ 4% (v/v) เวลา 5 นาที และ 0.3% (v/v) เวลา 3 นาที ตามลำดับ ในทางกลับกันการจุ่มในเกลือโซเดียมอะซิเตท เกลือโปแตสเซียมอะซิเตท และเกลือแอมโมเนียมอะซิเตทไม่สามารถยับยั้งเชื้อโรคได้