บทคัดย่องานวิจัย

ผลของสารเคลือบและวิธีการเคลือบเมล็ดต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานพิเศษลูกผสม

บุญมี ศิริ ปิยะนุช เทียงดีฤทธิ์ ธิดารัตน์ แก้วคำ และสุวารี ก่อเกษตรวิศว์

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 38 ฉบับที่ 5 (พิเศษ). 2550. หน้า 173-176.

2550

บทคัดย่อ

ผลของสารเคลือบและวิธีการเคลือบเมล็ดต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานพิเศษลูกผสม

การทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของสารเคลือบเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานพิเศษ  ด้วยสารเคลือบและวิธีการเคลือบต่างกัน  การเคลือบเมล็ดพันธุ์ใช้เครื่องเคลือบแบบจานหมุนรุ่น  SKK 08  ของโรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์  คณะเกษตรศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ทำการเคลือบเมล็ด  9  วิธีการ  คือ  เมล็ดไม่เคลือบสาร  (T1),  เมล็ดคลุกด้วย  Metalaxyl  (T2),  เมล็ดเคลือบสี  (T3),  เมล็ดเคลือบพอลิเมอร์  (T4),    เมล็ดเคลือบพอลิเมอร์ผสม Metalaxyl  3.5  cc  (T5),  เมล็ดเคลือบพอลิเมอร์ผสม Metalaxyl  7.0  cc  (T6),  เมล็ดเคลือบพอลิเมอร์ แล้วเคลือบทับด้วยพอลิเมอร์ผสม Metalaxyl  3.5  cc  (T7),  เมล็ดเคลือบพอลิเมอร์ แล้วเคลือบทับด้วยพอลิเมอร์ผสม Metalaxyl  7.0  cc  (T8),  เมล็ดเคลือบสารเคลือบทางการค้าผสม Metalaxyl  3.5  cc  (T9)  จากนั้นนำมาตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ในลักษณะต่าง ๆ หลังการเคลือบ  และหลังการเร่งอายุเมล็ดพันธุ์  ผลการทดลองพบว่า  การเคลือบเมล็ดพันธุ์ด้วยสารเคลือบและวิธีการต่าง ๆ ไม่ทำให้ความงอกของเมล็ดพันธุ์ที่เพาะในห้องปฏิบัติการและในสภาพไร่แตกต่าง กันทางสถิติ  แต่พบว่าการงอกของเมล็ดพันธุ์ที่เคลือบด้วยวิธีการ  T8  และ  T9  ทำให้ความเร็วในการงอกต่ำกว่าวิธีอื่น ๆ