บทคัดย่องานวิจัย

ผลของการเคลือบผิวด้วยพาราฟินและชนิดของวัสดุห่อหุ้มที่มีต่อขิง

มาระตรี เปลี่ยนศิริชัย พรพรรณ โสดาปัดชา และ นิภารัตน์ ทุมสิงห์

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 38 ฉบับที่ 5 (พิเศษ). 2550. หน้า 91-94.

2550

บทคัดย่อ

ผลของการเคลือบผิวด้วยพาราฟินและชนิดของวัสดุห่อหุ้มที่มีต่อขิง

ขิง (Zingiber officinaleRosc.) เป็นพืชที่ใช้ส่วนเหง้าในการบริโภค มีน้ำหอมระเหยหลายชนิด ได้แก่ zingiberine, zingiberol, citral, oleo- resin และ gingerol อย่างไรก็ตามเหง้าขิงมีอายุการเก็บรักษาสั้น เนื่องจากมีการสูญเสียน้ำหนัก เกิดโรคและหน่อ อย่างรวดเร็ว งานวิจัยนี้ใช้พาราฟินความเข้มข้น 100 เปอร์เซ็นต์ เคลือบผิวโดยการจุ่ม 1 ครั้ง ร่วมกับการใช้วัสดุห่อหุ้ม PE (Polyethylene) และ PVC (Polyvinyl chloride) ในขิงแก่พันธุ์หยวก เก็บรักษาที่ 15 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75 - 80 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเก็บรักษานาน 56 วัน พบว่า ขิงที่เคลือบผิวด้วยพาราฟินร่วมกับการหุ้มด้วยพลาสติก PE มีการสูญเสียน้ำหนัก (5.91 เปอร์เซ็นต์) น้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับขิงที่ไม่เคลือบผิว ไม่หุ้ม (ชุดควบคุม) (20.04 เปอร์เซ็นต์) ขิงที่ไม่เคลือบผิว หุ้มด้วยพลาสติก PE (8.78 เปอร์เซ็นต์) และ ขิงที่เคลือบผิว ไม่หุ้ม (9.36 เปอร์เซ็นต์) ส่วนการเกิดโรคพบว่า ขิงที่เคลือบผิวด้วยพาราฟิน ไม่หุ้ม และขิงที่เคลือบผิวด้วยพาราฟิน หุ้มด้วยฟิล์ม PVC มีการเกิดโรคเท่ากันที่ 25.83 เปอร์เซ็นต์ น้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับขิงที่ไม่เคลือบผิว ไม่หุ้ม (ชุดควบคุม) (31.67 เปอร์เซ็นต์) และขิงที่เคลือบผิว หุ้ม PE (29.17 เปอร์เซ็นต์) การเคลือบผิวด้วยพาราฟินร่วมกับการหุ้ม PE ลดการสูญเสียน้ำหนักได้ดี การเคลือบผิวขิงด้วยพาราฟินโดยไม่หุ้ม และการเคลือบผิวแล้วหุ้มด้วย PVC ช่วยลดการเกิดโรคได้ น่าจะเนื่องจากพาราฟินและพลาสติก PVC มีความหนาที่เหมาะสมในการช่วยลดการสูญเสียน้ำ พลาสติก PE อาจมีความหนามากเกินไปทำให้เกิดการสะสมของความชื้น ส่งผลให้มีโรคเกิดขึ้น