บทคัดย่องานวิจัย

การเสียของกล้วยตากและการเก็บรักษาในสภาพควบคุมความชื้นสัมพัทธ์

สุรีย์ นานาสมบัติ

วิทยานิพนธ์ (วท.ม. (วิทยาศาสตร์การอาหาร)) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2534. 138 หน้า.

2534

บทคัดย่อ

การเสียของกล้วยตากและการเก็บรักษาในสภาพควบคุมความชื้นสัมพัทธ์

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาสาเหตุการเสียของกล้วยตาก เริ่มโดยการศึกษาคุณลักษณะบางประการของกล้วยตาก จากผลการวิเคราะห์ที่ได้จะนำมาใช้ประกอบการพิจารณาวางแผนการทดลองเพื่อศึกษาการเสียของกล้วยตาก และเพื่อให้สามารถบอกสาเหตุการเสียของกล้วยตากได้อย่างถูกต้องจึงได้ทำการค้นคว้าชนิดของอาหารเลี้ยงเชื้อที่เหมาะสมโดยการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของอาหารเลี้ยงเชื้อที่ระดับ water activity (aw) ต่าง ๆ กัน คัดเลือกอาหารเลื้ยงเชื้อที่เหมาะสมที่สุดนำมาใช้ในการเพาะเลี้ยงยีสต์ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่เจริญเด่นในกล้วยตากที่เสียแล้วทำการแยกเชื้อและจำแนกชนิดของยีสต์ต่อไป นอกจากนี้ยังได้ทำการเก็บรักษากล้วยตากในสภาพควบคุมความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 65  75 และ 85 ที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียสและอุณหภูมิห้อง (30 + 1  องศาเซลเซียส) เพื่อศึกษาผลของความชื้อสัมพัทธ์และอุณหภูมิที่มีต่อคุณภาพและอายุการเก็บรักษาของกล้วยตากโดยการตรวจสอบคุณภาพทางเคมีและคุณภาพทางจุลินทรีย์ของกล้วยตากในระหว่างการเก็บรักษาร่วมกับการประเมินคุณภาพทางประสาทสัมผัส

            จากการศึกษาคุณลักษณะบางประการของกล้วยตากจำนวน 45 ตัวอย่าง ปรากฏว่า กล้วยตากมีปริมาณความชื้นระหว่างร้อยละ 16.0-23.7 และเฉลี่ยร้อยละ 19.3 ปริมาณน้ำตาลทั้งหมดระหว่างร้อยละ 48.6-67.2 แลเฉลี่ยร้อยละ 57.9 ค่า aw ระหว่าง 0.55-0.74 และเฉลี่ย 0.66 ค่า pH ระหว่าง 4.6-5.2 และเฉลี่ย 4.8

            การเสียของกล้วยตากมักพบว่ามีสาเหตุมาจากยีสต์ชนิดที่เจริญได้ในสภาพที่มี aw ต่ำ ดังนั้นการเลือกใช้อาหารเลี้ยงเชื้อซึ่งปรับค่า aw ให้เหมาะสมสำหรับวิเคราะห์จำนวนยีสต์ในกล้วยตากจึงเป็นสิ่งสำคัญ จากการค้นคว้าชนิดของอาหารเลี้ยงเชื้อที่เหมาะสมโดยเปรียบเทียบประสิทธิภาพของอาหารเลี้ยงเชื้อที่มีระดับ aw ต่างกัน 7 ระดับ พบว่า อาหารเลี้ยงเชื้อที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดในการวิเคราะห์จำนวนยีสต์ในกล้วยตาก คือ Yeast Extract Glucose 50 Agar (YEG 50) ซึ่งประกอบด้วย กลูโคสร้อยละ 50 โดยน้ำหนักและ yeast extract ร้อยละ 0.5 โดยน้ำหนัก มีค่า aw ต่ำเท่ากับ 0.90 และสามารถใช้นับจำนวนยีสต์ได้มากกว่า Potato Dextrose Agar (PDA) ถึงร้อยละ 86.6 ซึ่ง PDA นี้มีค่า aw สูงเท่ากับ 0.99

            จากการศึกษาชนิดของจุลินทรีย์ในกล้วยตากที่เสียจำนวน 13 ตัวอย่างชี้ให้เห็นว่าจุลินทรีย์ที่เจริญเด่นในกล้วยตากที่เสีย คือ ยีสต์ ได้ทำการแยกยีสต์จำนวน 156 ไอโซเลต จากกล้วยตากที่เสียนี้ และจำแนกชนิดของยีสต์ได้ 5 สายพันธุ์ ชนิดของยีสต์ที่พบมากที่สุดในกล้วยตากที่เสีย ได้แก่ Zygosaccharomyces rouxii  พบทั้งหมด 3 สายพันธุ์ คิดเป็นร้อยละ 80.1 นอกจากนี้ยังพบ Schizosaccharomyces octosporus และ candida sp.  อีกชนิดละ 1 สายพันธุ์ คิดเป็นร้อยละ 9.6 และ 10.3 ตามลำดับ             ในการเก็บรักษากล้วยตาก พบว่า การเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ ( 5 องศาเซลเซียส ) มีผลชะลอการเสียของกล้วยตากได้ดีซึ่งระดับความชื้นสัมพัทธ์ไม่มีผลต่ออายุการเก็บรักษาของกล้วยตากที่อุณหภูมิระดับนี้ สำหรับกล้วยตากที่เก็บรักษาที่ระดับความชื้นสัมพัทธ์ทั้งสามระดับที่อุณหภูมิต่ำนั้น ปริมาณความชื้น ปริมาณเอทธานอล ค่า aw ค่า pH และปริมาณยีสต์ในกล้วยตากมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก และคุณภาพทางประสาทสัมผัสเป็นที่ยอมรับตลอดระยะเวลาการเก็บรักษา 24 สัปดาห์ ส่วนกล้วยตากที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิห้องเกิดการเปลี่ยนแปลงคุณภาพอย่างมากในระหว่างการเก็บรักษาซึ่งปริมาณความชื้น ปริมาณเอทธานอล ค่า aw  และจำนวนยีสต์ในกล้วยตากมีแนวโน้ม เพิ่มขึ้นตามระดับความชื้นสัมพัทธ์ที่เพิ่มขึ้น แต่ค่า pH มีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย นอกจากนี้พบว่าเมื่อกล้วยตากเสียจะมีจำนวนยีสต์ไม่น้อยกว่า 1.0 x 105 CFU ต่อกรัม ปริมาณเอทธานอลไม่น้อยกว่า 900 ppm และค่า aw  ไม่ต่ำกว่า 0.70 กล้วยตากที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิห้องที่ระดับความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 65 มีอายุการเก็บรักษามากกว่า 12 สัปดาห์ และที่ระดับความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 75 และ 85 กล้วยตากมีอายุการเก็บรักษา 11 และ 7 สัปดาห์ ตามลำดับ

            จากการศึกษาในครั้งนี้นับว่ามีประโยชน์ในวงการจุลชีววิทยาทางอาหารมากกล่าวคือ ในการตรวจสอบคุณภาพทางจุลินทรีย์ของอาหารกึ่งแห้งที่มีปริมาณน้ำตาลสูงซึ่งมีค่า aw  ระหว่าง 0.60-0.85 ควรตรวจสอบจำนวนจุลินทรีย์โดยใช้อาหารเลี้ยงเชื้อที่ลดค่า aw  แทนการใช้อาหารเลี้ยงเชื้อที่มีค่า aw  สูง