บทคัดย่องานวิจัย

การยับยั้งการงอกของมันฝรั่ง (พันธุ์สปุนตา) โดยรังสีแกมม่า

วชิรา พริ้งศุลกะ

วิทยานิพนธ์ (วท.ม. (วิทยาศาสตร์การอาหาร)) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2525. 106 หน้า.

2525

บทคัดย่อ

การยับยั้งการงอกของมันฝรั่ง (พันธุ์สปุนตา) โดยรังสีแกมม่า

การนำมันฝรั่งพันธุ์สปุนตาผ่านการฉาบรังสีที่มีความเข้ม 0, 6, 9, 12 และ 15 กิโลแรด แล้วเก็บที่อุณหภูมิ 30 + 5 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 55 – 65% ที่อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส และ 10 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 85 – 95% เพื่อศึกษาผลของรังสีแกมม่าและอุณหภูมิต่อเปอร์เซ็นต์การงอก การเน่าเสีย การสูญเสียน้ำหนัก และการเปลี่ยนแปลงของโปรตีน น้ำตาล ไวตามินซี และลักษณะเนื้อ (texture) ผลปรากฏว่า มันฝรั่งทุกตัวอย่างเมื่อเก็บที่อุณหภูมิ30 + 5 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 55 – 65% จะเริ่มเน่าเสียอย่างรวดเร็ว ในระยะเวลา 28 วันหลังจากฉายรังสี มีอัตราการสูญเสียน้ำหนักสูง การเปลี่ยนแปลงลักษณะเนื้อ น้ำตาล และการสูญเสียไวตามินซีอยู่ในเกณฑ์สูง แต่ปริมาณโปรตีนมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก เมื่อเก็บรักษามันฝรั่งที่อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส และ 10 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 85 – 95% อัตราการเน่าเสียต่ำมาก มันฝรั่งไม่ฉายรังสีจะงอกหมด 100% ภายในระยะเวลา 14 สัปดาห์ และ 16 สัปดาห์ ตามลำดับ ส่วนมันฝรั่งที่ฉายรังสีตั้งแต่ 6 กิโลแรตด – 15 กิโลแรด มีอัตราการงอกต่ำ เมื่อเก็บมันฝรั่งไว้ครบ 6 เดือน ที่อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส และ 10 องศาเซลเซียส ปรากฏว่า มันฝรั่งที่ฉายรังสีขนาด 15 กิโลแรด มีอัตราการงอกต่ำที่สุดเพียง 2.54% และ 1.27% ตามลำดับ การเปลี่ยนแปลงปริมาณโปรตีน น้ำตาล ลักษณะเนื้อ และการสูญเสียไวตามินซีอยู่ในเกณฑ์ต่ำ               การประเมินผลโดยประสาทสัมผัสในเรื่อง สี กลิ่น รส และลักษณะเนื้อ (texture) ปรากฏว่า มันฝรั่งที่ไม่ฉายรังสีและฉายรังสีทุกขนาดไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติที่ระดับ 95% ทั้งในด้าน สี กลิ่น รส และลักษณะเนื้อ