บทคัดย่องานวิจัย

การเก็บรักษาและการทดสอบความมีชีวิตของเมล็ดไม้เลี่ยน

บัณฑิต โพธิ์น้อย

วิทยานิพนธ์ (วท.ม. (วนศาสตร์)) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ. 2526. 68 หน้า.

2526

บทคัดย่อ

การเก็บรักษาและการทดสอบความมีชีวิตของเมล็ดไม้เลี่ยน

การศึกษาถึงผลและเมล็ดเลี่ยนจากแหล่งต่าง ๆ คือ ส่วนป่าห้วยระบำ จังหวัดอุทัยธานี ส่วนป่าลาดกระทิง จังหวัดฉะเชิงเทรา และป่าธรรมชาติมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงความผันแปรในลักษณะทางสัณฐานวิทยาของผลและเมล็ดเลี่ยน วิธีการเก็บรักษาเมล็ดเลี่ยนที่เหมาะสม และศึกษาถึงวิธีที่เหมาะสมในการทดสอบความมีชีวิตของเมล็ดเลี่ยน

              จากการศึกษาได้พบว่าผลเลี่ยนมีจำนวนช่องใน 1 ผลอยู่ 1-8 ช่อง และมีจำนวน 5 ช่องมากที่สุดถึง 61.67% ในผลเลี่ยนนั้นมีจำนวนเมล็ดทั้งหมด 0-8 เมล็ด เปอร์เซ็นต์ของผลที่มีเมล็ด 3 และ 4 เมล็ด คือ 23.83 และ 23.25% ตามลำดับ มีจำนวนเมล็ดดีอยู่ 2 และ 3 เมล็ด มากที่สุด ในปริมาณ 24.17 และ 23.13% ส่วนผลที่ไม่มีเมล็ดดีอยู่เลยมีถึง 5.42%

              ในผลเลี่ยน 100 ผล เมื่อได้ทำการผ่าดูพบว่ามีเมล็ดอยู่ประมาณ 309 เมล็ด เป็นเมล็ดดี 83.65% หลังจากเก็บรักษาไว้ในสภาพผลแห้งในอุณหภูมิห้องเป็นเวลา 12 เดือน เปอร์เซ็นต์เมล็ดดีลดลงเหลือ 75.26%

              ผลเลี่ยน 1,000 ผล มีน้ำหนักเฉลี่ย 2,158 กรัม และมีน้ำหนัก 1,000 เมล็ด 22.07 กรัม โดยเมล็ดจากถิ่นกำเนิดห้วยระบำมีน้ำหนักมากที่สุด 24.02 กรัม ส่วนเมล็ดจากถิ่นกำเนิดลาดกระทิงมีน้ำหนักเบาที่สุดคือ 18.95 กรัม

              ผลเลี่ยนที่เก็บมาใหม่นำมาผึ่งในห้องปฏิบัติการเมล็ดพันธุ์เป็นเวลา 14 วัน ทำให้ความชื้นภายในผลลดลงเหลือประมาณ 15.72 – 17.12 % ซึ่งเป็นความชื้นที่ค่อนข้างคงที่ ส่วนเมล็ดเลี่ยนที่กระเทาะจากผลที่เก็บมาใหม่นั้นมีความชื้น 8.66% หลังจากเก็บรักษาในถุงพลาสติกปิดสนิทในสภาพห้องธรรมดาเป็นเวลา 6 เดือน ความชื้นลดลงเหลือ 6.52%

              เปอร์เซนต์การงอกของเมล็ดเลี่ยนจากผลที่เก็บมาใหม่จากมวกเหล็ก, ลาดกระทิง และห้วยระบำ คือ 63.5, 52.5 และ 47.5% ตามลำดับ การเก็บรักษาในสภาพผลสดในถุงพลาสติกปิดสนิทในอุณหภูมิห้องธรรมดาไม่เป็นการเหมาสม ซึ่งไม่สามารถเก็บรักษาเปอร์เซนต์การงอกไว้ได้ ส่วนผลสดที่เก็บรักษาในถุงพลาสติกปิดสนิทที่อุณหภูมิ 12 ° C เปอร์เซนต์การงอกเริ่มลดลงในเดือนที่ 3 ของการเก็บรักษา

              การเก็บรักษาในสภาพผลแห้งในห้องธรรมดาเป็นเวลา 6 เดือน เปอร์เซนต์การงอกของเมล็ดมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับเมล็ดจากผลที่เก็บมาใหม่ เมื่อทำการเก็บรักษาไปถึง 12 เดือน เมล็ดจากถิ่นกำเนิดลาดกระทิง ห้วยระบำและมวกเหล็กสูญเสียเปอร์เซนต์การงอกไป 92.38, 84.26 และ 64.21% ของเมล็ดจากผลที่เก็บมาใหม่ ตามลำดับ

              การเก็บรักษาเมล็ดเลี่ยนในถุงพลาสติกปิดสนิทเมื่อเก็บไว้ในสภาพห้องธรรมดาเมล็ดจากถิ่นกำเนิดลากกรทิง ห้วยระบำ และมวกเหล็กรักษาเปอร์เซนต์การงอกไว้ได้ 6, 4 และ 3 เดือน โดยไม่แตกต่างจากเมล็ดจากผลที่เก็บมาใหม่ ส่วนการเก็บรักษาในสภาพอุณหภูมิที่ต่ำสามารถรักษาเปอร์เซนต์การงอกไว้ได้ในลักษณะเดียวกันคือ เมล็ดจากถิ่นกำเนิด ห้วยระบำ ลาดกระทิง และมวกเหล็ก รักษาเปอร์เซนต์การงอกได้ไม่น้อยกว่า 6, 6 และ 2 เดือน เมื่อเก็บรักษาไว้ในที่

12 ° C และ 4, 3 และ 2 เดือน เมื่อเก็บรักษาไว้ในที่  0 ° C โดยเปอร์เซนต์การงอกไม่แตกต่างจากเมล็ดจากผลที่เก็บมาใหม่ เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าการเก็บรักษาเมล็ดเลี่ยนในถุงพลาสติกปิดสนิทที่อุณหภูมิ 12 ° C เป็นวิธีที่เหมาะสม

              เมื่อเปรียบเทียบเปอร์เซนต์การงอกกับการผ่าเมล็ดดูนั้น การผ่าเมล็ดดูให้เปอร์เซนต์ความมีชีวิตสูงกว่ามาก ในขณะที่การทดสอบโดยใช้สารละลาย tetrazolium salt เป็นวิธีการทีเหมาะสมที่สุดที่ใช้หาเปอร์เซนต์ความมีชีวิตของเมล็ดเลี่ยน ( r = 0.997 ** ) การใช้สารละลายไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่มีความเข้มข้น 1% สำหรับการทดสอบความมีชีวิตนั้นใช้ได้ เฉพาะเมล็ดที่เก็บไว้เป็นเวลานาน เมื่อทดสอบกับเมล็ดจากผลที่เก็บมาใหม่เปอร์เซนต์ความมีชีวิตของเมล็ดมีค่าสูงกว่าเปอร์เซนต์การงอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ