บทคัดย่องานวิจัย

โรคผลเน่าหลังการเก็บเกี่ยวของกล้วยหอมที่เกิดจากเชื้อรา Colletotrichum musae (Berk. & Curt.) Arx และการควบคุมโรคเพื่อการส่งออก

ทศพร ทองเที่ยง

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาโรคพืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 2535. 75 หน้า.

2535

บทคัดย่อ

โรคผลเน่าหลังการเก็บเกี่ยวของกล้วยหอมที่เกิดจากเชื้อรา Colletotrichum musae (Berk. & Curt.) Arx และการควบคุมโรคเพื่อการส่งออก

โรคแอนแทรคโนสของกล้วยหอมที่เกิดจากเชื้อรา Colletotrichum musae (Berk. & Curt.) Arx มีการเข้าทำลายแบบแฝงมาจากแหล่งปลูกโดยพบว่า กล้วยหอมจาก นนทบุรี นครปฐม ราชบุรี และปทุมธานี มีเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคภายหลังการเก็บเกี่ยว 87.2, 83.0, 78.0, 77.0 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ เชื้อราจากแหล่งปลูกทั้ง 4 แหล่งมีลักษณะรูปร่างและขนาดของเชื้อบนเนื้อเยื่อพืช รวมทั้งอัตราการเจริญเติบโตบนอาหารเลี้ยงเชื้อ potato dextrose agar (PDA) ใกล้เคียงกันเชื้อราสามารถเจริญและสร้างสปอร์ได้ดีบนอาหาร PDA ความเป็นกรดและด่างที่ 4-7 อุณหภูมิ 25-30 องศาเซลเซียส ภายใต้แสงฟลูออเรสเซนต์ 12 ชั่วโมง สลับมืด 12 ชั่วโมง เชื้อรา

C. musae ที่เข้าทำลายแบบแฝงบนกล้วยหอมที่เขียวและก่อให้เกิดอาการโรค เมื่อกล้วยหอมสุกเป็นสีเหลืองทั้งผล (ระดับ 4) มีปริมาณ soluble solids เฉลี่ย 18% Brix โดยอาการรุนแรงมากขึ้นตามความสุกและปริมาณน้ำตาลในผลที่เพิ่มขึ้น กล้วยหอมที่เป็นโรคแอนแทรคโนสมีการเปลี่ยนแปลงอัตราการหายใจ และการผลิตก๊าซเอทธิลีนสูงกว่ากล้วยหอมที่ไม่เป็นโรค จากการศึกษาประสิทธิภาพสารเคมี thiabendazole, benomy1, thiophanate-methy1,prochloraz, imazalil ในการควบคุมโรคแอนแทรคโนส พบว่าการจุ่มกล้วยในสารเคมี imazalil ความเข้มข้น 250 ppm นาน 3 นาที สามารถควบคุมโรคแอนแทรคโนสได้ดีและเมื่อใช้ร่วมกับการเก็บรักษาในห้องเย็นที่อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส สามารถเก็บกล้วยหอมนาน 30 วันโดยที่กล้วยหอมยังมีสภาพดีไม่เปลี่ยนสี ปราศจากอาการโรค และเมื่อบ่มให้สุกที่อุณหภูมิห้อง ก็ไม่ปรากฏอาการของโรคแอนแทรคโนสเช่นกัน ในการตรวจหาสารพิษตกค้างบนผลกล้วยหอมที่จุ่มในสารเคมี imazalil ความเข้มข้น 250 ppm นาน 3 นาที โดยวิธี bioassay พบสารพิษตกค้างที่เปลือกด้านนอกของกล้วยหอมที่ผ่านการจุ่มในสารเคมีแล้วเก็บที่อุณหภูมิห้องนาน 1 ชั่วโมง ในปริมาณ 44 ppm และกล้วยหอมที่ผ่านการจุ่มในสารเคมีแล้วนาน 20 ชั่วโมงในส่วนเปลือกด้านนอกและเปลือกด้านในปริมาณ 12, 13 ppm ตามลำดับ