บทคัดย่องานวิจัย

การตรวจสอบเชื้อไวรัสในเมล็ดพันธุ์ถั่วฝักยาวและการรับรองสุขภาพเมล็ดพันธุ์ที่ปราศจากโรค

อุดม ฟ้ารุ่งสาง

วิทยานิพนธ์ (วศ.ม. (จุลชีววิทยา)) ภาควิชาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2527. 141 หน้า.

2527

บทคัดย่อ

การตรวจสอบเชื้อไวรัสในเมล็ดพันธุ์ถั่วฝักยาวและการรับรองสุขภาพเมล็ดพันธุ์ที่ปราศจากโรค

โรคใบด่างเหลืองของถั่วฝักยาวมีลักษณะอาการของโรคผันแปรได้หลายลักษณะเมล็ดพันธุ์จากร้านค้า จากแปลงที่มีต้นเป็นโรคปะปนอยู่ และจากต้นเป็นโรค มีการถ่ายทอดเชื้อเฉลี่ย 2.98  10.79  และ  20.60  เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ การแพร่ระบาดของโรคจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีเชื้อติดมา และปล่อยให้มีต้นเป็นโรคอยู่ในแปลงปลูกผลผลิตที่วัดจากน้ำหนักฝักแห้ง จำนวนฝักต่อต้น และน้ำหนักเมล็ดพันธุ์ลดลง  18.2   16.8  และ  17.2  เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ การถ่ายทอดเชื้อในรุ่นต่อไปเพิ่มขึ้นเมื่อปล่อยให้มีต้นเป็นโรคอยู่ในแปลงปลูก และลดลงเมื่อมีการควบคุมโรค ความสัมพันธ์ของการถ่ายทอดเชื้อไวรัสกับตำแหน่งของเมล็ด ตำแหน่งของฝัก และอายุเก็บเกี่ยวของถั่วฝักยาว ไม่มีแบบแผนที่แน่นอน ตำแหน่งของเชื้อไวรัสในเมล็ดพันธุ์คือที่ใบเลี้ยงและต้นอ่อน

              สมบัติทางกายภาพและขนาดของไวรัสนี้จัดอยู่ในกุล่ม potyvirus group มีพืชอาศัยอยู่ใน 3 วงศ์ คือ Chenopodiaceae, Solanaceae และส่วนใหญ่อยู่ในวงศ์ Leguminosae เมื่อตรวจสอบโดยวิธี Decorate พบว่าไวรัสมีปฏิกิริยาความสัมพันธ์ทางเซรุ่มวิทยากับแอนติเซรั่มของ bean yellow mosaic virus, potato virus Y และ soybean mosaic virus และไม่มีปฏิกิริยากับ bean common mosaic virus และ sugarcane mosaic virus จากการทดลองพบว่าไวรัสสาเหตุโรคใบด่างเหลืองของถั่วฝักยาว มีลักษณะใกล้เคียงกับ cowpea aphid-borne mosaic virus และ blackeye cowpea mosaic virus มากกว่าไวรัสชนิดอื่น ๆ

              การตรวจหาอานุภาคไวรัสโดยวิธี Protein A + Derrick (r-glo11) เพิ่มประสิทธิภาพขึ้น 64.21 เท่า เมื่อเทียบกับวิธีลอยกริด วิธีนี้สามารถตรวจสอบเมล็ดพันธุ์ที่มีเชื้อไวรัสติดมา 1 เมล็ดในตัวอย่าง 60 เมล็ดได้ ทั้งในเมล็ดแห้งและเมล็ดที่กำลังงอก การตรวจสอบเพื่อการรับรองสุขภาพเมล็ดพันธุ์โดยวิธีนี้ใช้ตัวอย่างเมล็ดพันธุ์จำนวน 400 เมล็ด แบ่งออกเป็น 8 ชุด ๆ ละ 50 เมล็ด นำไปเพาะไว้ 1 วัน แล้วจึงนำมาตรวจสอบวิธีการนี้สามารถบอกได้ว่าตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ที่นำมาตรวจสอบมีเชื้อไวรัสติดมาหรือไม่ และถ้ามีเชื้อไวรัสติดมาสามารถบอกได้ว่ามีติดมาอย่างน้อย (minimum) เท่าใด ดังนั้นวิธีการนี้จึงสามารถนำมาปรับใช้ในการตรวจสอบเพื่อรับรองสุขภาพของเมล็ดพันธุ์ถั่วฝักยาวได้