บทคัดย่องานวิจัย

โรคขั้วผลเน่าหลังเก็บเกี่ยวของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ที่เกิดจากเชื้อรา Phomopsis mangiferae Admad. และการควบคุม

ฉวีวรรณ บุญเรือง

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาโรคพืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 2536. 66 หน้า.

2536

บทคัดย่อ

โรคขั้วผลเน่าหลังเก็บเกี่ยวของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ที่เกิดจากเชื้อรา Phomopsis mangiferae Admad. และการควบคุม

โรคขั้วผลเน่าหลังเก็บเกี่ยวของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ที่เกิดจากเชื้อรา Phomopsis mangiferae Admad.  บนผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้จากจังหวัดฉะเชิงเทรา นครปฐม และราชบุรีมีเปอร์เซ็นต์การเกิดโรค 9,  37  และ 21  ตามลำดับ เชื้อราที่แยกได้จากจังหวัดจันทบุรี ฉะเชิงเทราและราชบุรี มีรูปร่างและขนาดใกล้เคียงกัน เส้นใยสามารถเจริญได้ดีบนอาหารไม่แตกต่างกัน แต่เจริญและสร้าง conidia ได้ดีบนอาหาร PDA ที่มีความเป็นกรด-ด่าง (pH) 4-5.5 อุณหภูมิ 25-30 องศาเซลเซียส ภายใต้สภาพแสงฟลูออเรสเซนต์ร่วมกับแสง NUV 24 ชั่วโมงต่อวัน

เชื้อรา P. mangiferae Admad. ทั้ง 3 แหล่งทำให้เกิดโรคขั้วผลเน่าหลังเก็บเกี่ยวกับมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้รุนแรงไม่แตกต่างกัน เชื้อราเข้าทำลายผลมะม่วงได้ทั้งเส้นใยและ conidia โดยเข้าทำลายทางบาดแผล หลังการบ่มเชื้อตั้งแต่ 6 ชั่วโมงเป็นต้นไป เชื้อรานี้ทำให้เกิดโรคกับมะม่วงและผลไม้ชนิดอื่นได้ เช่น มะม่วงพันธุ์แก้ว อกร่อง หนังกลางวัน กล้วยหอม มะละกอ ฝรั่ง เงาะโรงเรียน เงาะสีชมพูและเงาะสีทอง อาการโรครุนแรงขึ้นตามการสุกและปริมาณ soluble solids ในผลที่เพิ่มขึ้น ผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ที่ถูกทำลายโดยเชื้อรา P. mangiferae Ahmad. มีการเปลี่ยนแปลงของอัตราการหายใจ การผลิตก๊าซเอทธิลีน และปริมาณกรดเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณ soluble solids มีแนวโน้มลดลง

              จากการศึกษาประสิทธิภาพของสารเคมี 10 ชนิด ต่อการเจริญของเส้นใยและการงอกของเชื้อรา พบว่าสารเคมี benomy1 carbendazim และ prochloraz  ความเข้มข้นเพียง 5.0 ppm. ยับยั้งการเจริญของเส้นใยได้ดี ส่วนสารเคมี dithainon ยับยั้งการงอกของ conidia ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ การจุ่มผลมะม่วงที่ปลูกเชื้อแล้วในสารเคมี carbendazim dithainon imazalil myclobutanil และ prochloraz  ความเข้มข้น 750 ppm. และน้ำร้อนอุณหภูมิ 53 องศาเซลเซียสเป็นเวลานาน 5 นาที สามารถควบคุมโรคขั้วผลเน่าได้ดีไม่แตกต่างกัน ในการตรวจหาพิษตกค้างบนผลมะม่วงที่จุ่มในสารเคมี carbendazim ความเข้มข้น 750 ppm. โดยวิธี bioassay พบสารตกค้างที่เปลือกด้านนอกหลังการจุ่มเป็นเวลา 8 ชั่วโมง มีแนวโน้มลดลง เหลือเพียง 52.36 ppm.