บทคัดย่องานวิจัย

โรคขั้วผลเน่าของผลมะม่วงภายหลังการเก็บเกี่ยวที่เกิดจากเชื้อรา Botryodiplodia theobromae Pat. และการควบคุม

สายพิณ จันทรเทพ

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาโรคพืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 2532. 87 หน้า.

2532

บทคัดย่อ

โรคขั้วผลเน่าของผลมะม่วงภายหลังการเก็บเกี่ยวที่เกิดจากเชื้อรา Botryodiplodia theobromae Pat. และการควบคุม

การศึกษาขบวนการเข้าทำลายของเชื้อรา Botryodiplodia theobromae Pat. พบว่าภายหลังการปลูกเชื้อ 24 และ 48 ชั่วโมง เชื้อราส่วนใหญ่อยู่ในช่วงความลึก 2 – 3 มิลลิเมตร และมีบางส่วนอยู่ในช่วงความลึก 5 มิลลิเมตร ระยะนี้เส้นใยยังเพิ่มปริมาณไม่มากนัก เส้นใยเข้าไปได้ลึกถึง 1 เซนติเมตร ภายหลังการปลูกเชื้อ 72 ชั่วโมง เส้นใยเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ขณะเดียวกันผลมะม่วงเริ่มสุกและอาการของโรคก็เริ่มปรากฎให้เห็นที่ขั้วผล

              การไว้ขั้วผลมะม่วงยาว 1, 2, 3 และ 4 เซนติเมตร สามารถลดเปอร์เซ็นต์พื้นที่ผิวการเกิดโรคบนผลมะม่วงลงได้ เมื่อไว้ขั้วผลมะม่วงยาวขึ้นเปอร์เซ็นต์พื้นที่ผิวการเกิดโรคบนผลมะม่วงลดลงตามไปด้วย เชื้อรา B. theobromae Pat. สามารถทำให้เกิดโรคได้ไม่แตกต่างกันไม่ว่าเกิดแผลที่ขั้วผลหรือข้างผล ระยะเวลาที่ผลมะม่วงได้รับการปลูกเชื้อมีผลต่อความรุนแรงของโรค คือเมื่อเวลานานขึ้นความรุนแรงของโรคก็สูงขึ้น ผลมะม่วงที่ได้รับการปลูกเชื้อ 6, 9 และ 12 ชั่วโมง ความรุนแรงของโรคสูงกว่าผลมะม่วงที่ได้รับการปลูกเชื้อ 3 ชั่วโมง แต่ความรุนแรงของโรคในผลมะม่วงที่ได้รับการปลูกเชื้อ 9 และ 12 ชั่วโมงไม่แตกต่างกัน

              ผลมะม่วงที่เป็นโรคขั้วผลเน่ามีการหายใจเป็นแบบเดียวกับผลมะม่วงที่ไม่เป็นโรค แต่มีอัตราการหายใจสูงกว่า ผลมะม่วงที่ไม่เป็นโรคเมื่ออาการของโรคเริ่มปรากฏ

              แหล่งของเชื้อรา B. theobromae Pat. จากแห่งต่าง ๆ กัน คือ ผลมะม่วงที่เป็นโรค กิ่งมะม่วงแห้งบริเวณบนต้น กิ่งมะม่วงแห้งบริเวณใต้ต้น ผลฝรั่ง ผลเงาะ ผลเสาวรส ผลกล้วย และผลชมพู่ที่เป็นโรค และแหล่งของเชื้อจากดิน ทำให้เกิดโรคกับผลมะม่วงได้แตกต่างกัน คือ แหล่งของเชื้อจากผลมะม่วงที่เป็นโรค กิ่งมะม่วงแห้งทั้งบริเวณบนต้นและใต้ต้น และเชื้อจากผลฝรั่งที่เป็นโรค สามารถทำให้เกิดโรคได้ดีที่สุดรองลงมาคือ แหล่งของเชื้อจากผลกล้วย ผลเสาวรส และผลเงาะที่เป็นโรค เชื้อจากผลชมพู่ที่เป็นโรคและเชื้อจากดินใต้โคนต้นมะม่วงในสวนมะม่วงสามารถทำให้เกิดโรคได้รุนแรงน้อยที่สุด

              พันธุ์มะม่วงต่างพันธุ์กันได้แก่พันธุ์ อกร่อง ทองคำ น้ำดอกไม้ แรด หนังกลางวัน และแก้ว มีความอ่อนแอต่อเชื้อรา B. theobromae Pat.  แตกต่างกันพันธุ์อกร่องและทองคำอ่อนแอต่อโรคมากที่สุด รองลงมาคือพันธุ์น้ำดอกไม้ หนังกลางวัน และแรด พันธุ์แก้วทนทานต่อโรคมากที่สุด

              จากการทดสอบการควบคุมโรคขั้วผลเน่าบนผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ด้วยการจุ่มผลมะม่วงลงในสารเคมี benomy1 imazalil และ myclobutanil ความเข้มข้น 500 ppm ณ อุณหภูมิ 52 องศาเซลเซียส นาน 5 นาที พบว่า มีประสิทธิภาพดีที่สุด สำหรับสารเคมี myclobutanil ความเข้มข้น 500 ppm เมื่อใช้ที่อุณหภูมิห้อง (29 – 30 องศาเซลเซียส) นาน 5 นาที มีประสิทธิภาพดีรองลงมา สารเคมี benomy1 และ imazalil ความเข้มข้น 500 ppm ณ อุณหภูมิห้อง นาน 5 นาที มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคต่ำสุด ในการควบคุมโรคโดยวิธีการใช้สารเคมี benomy1 ความเข้มข้น 500 ppm ณ อุณหภูมิ 52 องศาเซลเซียส นาน 5 นาที ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดนั้น ควรทำภายใน 6 ชั่วโมงหลังจากผลมะม่วงได้รับการปลูกเชื้อแล้ว และควรทำให้เสร็จภายใน 4 ชั่วโมงหลังจากการเตรียมสารเคมี เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงที่สุด