บทคัดย่องานวิจัย

การควบคุมโรคผลเน่าของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ระยะก่อนและหลังเก็บเกี่ยว

อรุณี พวงมี

วิทยานิพนธ์ (วท.ม.(เกษตรศาสตร์)) คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ. 2533. 97 หน้า.

2533

บทคัดย่อ

การควบคุมโรคผลเน่าของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ระยะก่อนและหลังเก็บเกี่ยว

จากดอกและผลระยะต่าง ๆ ทั้งหมด 7 ระยะ ของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ ภายหลังการพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อรา 6 ชนิด คือ benomy1 (Benlate OD 50 W.P.), carbendazim (Derosal 50 W.P.), iprodione (Rovral 50 W.P.), mancozeb (Dithane M-45 80 W.P.), prochloraz (Octave 50 W.P.) และ triadimefon (Bayleton 25 W.P.) เมื่อนำมาแยกเชื้อรา พบว่าเปอร์เซ็นต์เชื้อราต่ำที่สุดเมื่อพ่นด้วยสาร procholraz และ iprodione  ชนิดของเชื้อราที่ติดมากับดอกและผลในปริมาณค่อนข้างสูง คือ Fusarium sp., Cladosporium sp., Alternaria sp., Nigrospora sp. และ Pestalotia sp. เชื้อราที่พบในปริมาณน้อยคือ Aspergillus sp., Botryodiplodia sp., Chaetomium sp., Colletotrichum sp., Curvularia sp., Dothiorella sp., Helminthosporium sp., Papularia sp., Periconia sp. และ Phomopsis sp. เมื่อนำไปทดสอบการเป็นโรค พบว่าเชื้อรา Colletotrichum sp. และ Botryodiplodia sp. เข้าทำลายได้ทางแผล เข้าโดยตรงและรอยตัดขั้วผล เชื้อรา Dothiorells sp. และ Phomopsis sp. เข้าทำลายได้ทางแผลและรอยตัวขั้วผลเชื้อรา Aspergillus sp. เข้าทำลายได้ทางแผล ส่วนเชื้อราชนิดอื่นอีก 12 ชนิด ไม่ทำให้เกิดโรค เมื่อศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยาของเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคผลเน่าทั้ง 5 ชนิด พบว่าอาการของโรค ลักษณะโคโลนีของเชื้อ รูปร่างและขนาดสปอร์ ใกล้เคียงกับเชื้อราที่แยกจากผลเน่าของมะม่วง

              ผลมะม่วงที่ได้รับการพ่นในระยะก่อนเก็บเกี่ยวด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อราทั้ง 6 ชนิด เมื่อเก็บไว้ให้ผลสุกระยะหลังเก็บเกี่ยว พบว่า benomy1 ป้องกันผลเน่าได้สูงสุด แต่มีค่าเฉลี่ยขนาดแผลต่ำสุดเมื่อใช้ prochloraz เมื่อมีการจุ่มผลมะม่วงจากแหล่งเดียวกันในสารป้องกันกำจัดเชื้อราซ้ำชนิดเดียวกัน พบว่า prochloraz  ให้ผลในการควบคุมโรคผลเน่าที่ติดมาจากสวนได้ดีที่สุด

              บนอาหารเลี้ยงเชื้อ PDA ประสิทธิภาพของสารป้องกันกำจัดเชื้อรา benomy1, carbendazim และ prochloraz สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides, Phomopsis mangiferae และ Aspergillus  niger ได้ดี ส่วนเชื้อรา Botryodiplodia theobromae และ Dothiorella dominicana ถูกยับยั้งได้ผลดีที่สุดด้วยสาร iprodione

              เมื่อแช่ผลมะม่วงในสารป้องกันกำจัดเชื้อรา 4 ชนิด ที่อุณหภูมิ 52 องศาเซลเซียส ก่อนการปลูกเชื้อรา 5 ชนิด คือ Colletotrichum gloeosporioides, Botryodiplodia theobromae, Dothiorella dominicana, Phomopsis mangiferae และ Aspergillus niger พบว่า อาการผลเน่าตรวจพบน้อยมากเมื่อใช้สาร prochloraz (Sportak 45 E.C.) ภายหลังการปลูกเชื้อและที่ให้ผลรองลงมาคือ benomy1, carbendazim และ iprodione การใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อราทั้ง 4 ชนิด ภายหลังการปลูกเชื้อ พบว่าประสิทธิภาพสูงกว่าการใช้ก่อนการปลูกเชื้อ