บทคัดย่องานวิจัย

การศึกษาระยะสุกแก่ทางสรีรวิทยาและการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ของสะเดาไทย

นิศานาถ ละอองพันธ์

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (พฤกษศาสตร์) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 106 หน้า.

2539

บทคัดย่อ

การศึกษาระยะสุกแก่ทางสรีรวิทยาและการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ของสะเดาไทย

ในการศึกษาการพัฒนาของผลและเมล็ดสะเดาไทย เพื่อให้ทราบระยะสุกแก่ทางสรีรวิทยาและระยะเวลาเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมของเมล็ดพันธุ์ โดยเก็บผลที่มีอายุ 7 14 21 28 35 42 49 56 63 และ 70 วันหลังดอกบาน จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐมศึกษาการเปลี่ยนแปลงขนาด สี น้ำหนักสด น้ำหนักแห้ง ปริมาณความชื้น ความสามารถในการงอกและความแข็งแรง ผลการศึกษาพบว่าผลอายุ 70 วันหลังดอกบาน มีการสะสมน้ำหนักแห้งสูงสุดคือ 1.76 กรัมต่อเมล็ด ดังนั้นระยะผล 70 วันหลังดอกบานจึงเป็นระยะสุกแก่ทาง

สรีรวิทยา ส่วนระยะเวลาเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมเพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์คุณภาพดีประหยัดค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวและได้ปริมาณเมล็ดพันธุ์มากที่สุด ควรเก็บเกี่ยวเมื่อผลมีอายุ 56 – 70 วันหลังดอกบาน เนื่องจากเป็นระยะเมล็ดมีความแข็งแรง 89 – 93 เปอร์เซ็นต์ ความงอก 93 – 98 เปอร์เซ็นต์ และน้ำหนักแห้ง 1.51 – 1.76 กรัม

            เมื่อศึกษาเปรียบเทียบการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ที่ได้จากผลสีเขียวและสีเหลือง ภายใต้สภาพควบคุมความชื้นสัมพัทธ์ 7 ระดับคือ 40 50 60 70 80 90 100 เปอร์เซ็นต์ อุณหภูมิ 3 ระดับคือ 10 20 และ 30 องศาเซลเซียส พบว่าสภาพเก็บรักษาที่เหมาะสมที่สุดคือภายใต้สภาพความชื้นสัมพัทธ์ 80 เปอร์เซ็นต์ อุณหภูมิ 10 หรือ 20 องศาเซลเซียส เก็บรักษาไว้ได้นาน 6 สัปดาห์ โดยยังคงมีเปอร์เซ็นต์ความงอก 71.91 – 74.73 ความชื้นเมล็ด 43.56 – 47.34 เปอร์เซ็นต์ และพบว่าเมล็ดพันธุ์ที่ได้จากผลสีเขียวมีคุณภาพในการเก็บรักษาดีกว่าเมล็ดพันธุ์จากผลสีเหลือง