บทคัดย่องานวิจัย

อายุของผลที่มีต่อคุณภาพภายหลังการเก็บเกี่ยวของมะเขือเทศ (Lycopersicon esculentum Mill.)

อัญชลี วงษ์วีระขันธ์

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 2528. 73 หน้า.

2528

บทคัดย่อ

อายุของผลที่มีต่อคุณภาพภายหลังการเก็บเกี่ยวของมะเขือเทศ (Lycopersicon esculentum Mill.) การศึกษาอายุของผลที่มีต่อคุณภาพภายหลังการเก็บเกี่ยวของมะเขือเทศ (Lycopersicon esculentum Mill.) ได้ดำเนินการโดยใช้ผลมะเขือเทศจาก 2 แหล่ง คือ จากแปลงทดลอง ภาควิชาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน 3 พันธุ์ คือ VF 134-1-2, KKU และ L-22 ซึ่งปลูกระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2526 ถึงเดือนมีนาคม 2527 โดยทำการเก็บเกี่ยวผลมะเขือเทศ 4 ระยะ คือ ระยะ mature green, breaker, pink และ red และใช้ผลมะเขือเทศจากเชียงใหม่พันธุ์ VF 134-1-2 ซึ่งซื้อมาในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม และเดือนเมษายน 2527 ในระยะผลแก่สีเขียวและผลสุกสีแดง นำผลมะเขือเทศทั้งหมดมาเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิห้อง (เดือนกุมภาพันธ์มีอุณหภูมิเฉลี่ย 30oซ. และเดือนมีนาคม และเดือนเมษายนที่อุณหภูมิเฉลี่ย 33oซ.) ในห้องปฏิบัติการสรีรวิทยาหลังการเก็บเกี่ยวของพืชสวน ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผลมะเขือเทศทุกพันธุ์ที่ได้จากการปลูกซึ่งเก็บเกี่ยวในระยะ mature green สุกในเวลา 9-12 วันหลังการเก็บเกี่ยว ผลมะเขือเทศที่เก็บเกี่ยวในระยะ breaker และ pink สุกในเวลา 6-9 วันภายหลังการเก็บเกี่ยว ผลมะเขือเทศที่เก็บเกี่ยวในระยะ mature , mature green, breaker และ pink มีอายุการเก็บรักษาได้นาน 15 วันภายหลังการเก็บเกี่ยว ในขณะที่ผลมะเขือเทศสุกสีแดงมีอายุการเก็บรักษา 6-9 วันหลังการเก็บเกี่ยว เมื่อผลมะเขือเทศที่เก็บเกี่ยวในระยะ mature green และ breaker สุก พบว่าสีของผลไม่แดงเท่ากับผลที่สุกคาต้นและมีค่าความแน่นเนื้อของผลสุกสูงกว่าผลในระยะอื่น

คุณภาพของผลมะเขือเทศเมื่อสุกภายหลังการเก็บเกี่ยวในระยะต่าง ๆ กัน ผลมะเขือเทศที่เก็บเกี่ยวในระยะ breaker และ pink มี soluble solids, SS ใกล้เคียงกับผลมะเขือเทศที่เก็บเกี่ยวในระยะ red เมื่อผลมะเขือเทศสุกทุกพันธุ์ที่เก็บเกี่ยวในระยะ breaker มีปริมาณกรด (titratable acidity, TA)  ในน้ำคั้นมากกว่าผลมะเขือเทศที่เก็บเกี่ยวในระยะอื่น ๆ ผลมะเขือเทศที่เก็บเกี่ยวในระยะ red มีปริมาณกรดในน้ำคั้นต่ำสุดจึงทำให้มีอัตราส่วนของ SS/TA สูง สำหรับปริมาณไวตามินซี พบว่าผลมะเขือเทศที่เก็บเกี่ยวในระยะ breaker ผลมะเขือเทศสุกหลังการเก็บเกี่ยวในระยะ pink เมื่อสุกมีปริมาณไวตามินซีสูงสุด รองลงมาคือผลมะเขือเทศที่เก็บเกี่ยวในระยะ breaker ผลมะเขือเทศสุกหลังการเก็บเกี่ยวในระยะ mature green มีปริมาณไวตามินซีต่ำสุดโดยเฉพาะในพันธุ์ L-22 ผลมะเขือเทศที่เก็บเกี่ยวในระยะ red มีปริมาณน้ำตาลรีดิวซิงก์มากที่สุด รองลงมาคือผลมะเขือเทศที่เก็บเกี่ยวในระยะ pink และ breaker ตามลำดับ ผลมะเขือเทศที่สุกหลังการเก็บเกี่ยวในระยะ mature green  มีปริมาณน้ำตาลรีดิวซิงก์ต่ำสุด  การเปลี่ยนแปลงของ total nonstructural carbohydrates (TNC) ในระยะต่าง ๆ มีแนวโน้มที่แสดงให้เห็นว่าผลมะเขือเทศที่สุกภายหลังการเก็บเกี่ยวมี TNC สูงกว่าผลที่สุกคาต้น

การเปรียบเทียบคุณภาพของผลมะเขือเทศพันธุ์ VF 134-1-2 ที่ได้จากการปลูกที่แปลงทดลอง ซึ่งเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนกุมภาพันธ์กับผลมะเขือเทศจากเชียงใหม่ซึ่งเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน พบว่าผลมะเขือเทศที่ได้จากแปลงทดลองที่เก็บเกี่ยวในระยะ mature green ใช้เวลาในการสุก 12 วัน ในขณะที่ผลมะเขือเทศที่ซื้อมาจากเชียงใหม่ทั้ง 2 ครั้ง ใช้เวลาในการสุก  6 วัน ผลมะเขือเทศสุกสีแดงจากเชียงใหม่มี SS มากกว่าผลมะเขือเทศจากแปลงทดลองแต่มีปริมาณกรดต่ำกว่า ปริมาณไวตามินซีของผลมะเขือเทศทั้ง 3 ชุด ซึ่งเก็บเกี่ยวในระยะเดียวกันมีค่าใกล้เคียงกันแต่ผลมะเขือเทศที่เก็บเกี่ยวในระยะ mature green มีปริมาณไวตามินซีต่ำกว่าผลสุกสีแดงเล็กน้อย ผลมะเขือเทศที่ได้จากแปลงทดลองมีปริมาณน้ำตาลรีดิวซิงก์มากกว่าผลมะเขือเทศจากเชียงใหม่ ผลมะเขือเทศที่ได้จากเชียงใหม่ในเดือนเมษายนในระยะสุกสีแดงมีปริมาณรีดิวซิงก์ต่ำสุด ผลมะเขือเทศทุกชุดที่สุกจากระยะ mature green มีปริมาณ TNC มากกว่าผลสุกสีแดง ผลมะเขือเทศจากเชียงใหม่ทั้ง 2 ชุดที่เก็บเกี่ยวในระยะเดียวกันมีสีเหมือนกันแต่ไม่แดงเท่ากับผลที่ได้จากแปลงทดลอง