บทคัดย่องานวิจัย

ผลกระทบของสภาพบรรยากาศที่ดัดแปลงและอุณหภูมิต่ำที่มีต่อคุณภาพและอายุการเก็บรักษาผลมะม่วง (Mangifera indica L.) พันธุ์น้ำดอกไม้

มาโนชญ์ กูลพฤกษี

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2534, 121 หน้า.

2534

บทคัดย่อ

ผลกระทบของสภาพบรรยากาศที่ดัดแปลงและอุณหภูมิต่ำที่มีต่อคุณภาพและอายุการเก็บรักษาผลมะม่วง (Mangifera indica L.) พันธุ์น้ำดอกไม้ การศึกษาผลกระทบของสภาพบรรยากาศที่ดัดแปลงและอุณหภูมิต่ำที่มีต่อคุณภาพและอายุการเก็บรักษาผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้  ทำการทดลองที่ห้องปฏิบัติการของหน่วยวิจัยพืชผลหลังเก็บเกี่ยว ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ระหว่างปี พ.ศ. 2532-2533 โดยใช้ผลมะม่วงอายุ 95-100 วันหลังจากดอกบานเต็มที่ เก็บรักษาในถุง polypropylene (PP) ขนาด 12” x 17” หนา 31 m และ polyethylene (PE) 12” x 17” หนา 39 m  ทั้งไม่เจาะรูและเจาะรูเข็มหมุด 8 รู ซึ่งมีและไม่มีสารดูดซับเอทิลีน (ethylene absorbent, EA) และเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 10oซ. ความชื้นสัมพัทธ์ (RH) 90-93% พบว่า ผลมะม่วงที่เก็บรักษาในถุง PP เจาะรูเข็มหมุด 8 รูทั้งที่มีและไม่มี EA มีอายุการเก็บรักษานานกว่าการเก็บรักษาในสภาพอื่น ๆ คือ เก็บรักษาได้นาน 21.7 และ 23.3 วัน ตามลำดับ บรรยากาศภายในถุง PP ดังกล่าวมี CO2, O2 และ C2H4  เฉลี่ยในระหว่างการเก็บรักษา 12.38-14.94%, 8.91-10.72% และ 0-0.51 ppm ตามลำดับ ถุง PP เจาะรูทั้งหมด 8 รูทั้งที่มีและไม่มี EA สามารถลดการสูญเสียน้ำหนักและการเหี่ยว ชะลอกระบวนการสุกทั้งทางกายภาพและชีวเคมี ลดการเกิดกลิ่นและรสชาติที่ผิดปกติและลดความเสียหายที่เกิดจากอุณหภูมิต่ำ (chilling injury, CI) ของผลมะม่วงได้ ผลมะม่วงที่เก็บรักษาในถุงพลาสติกที่อุณหภูมิ 10oซ. และวางไว้ให้สุกที่อุณหภูมิห้องมี total soluble solids (TSS), TSS/TA (titratable acidity) ratio, reducing sugars (RS) และ total nonstructural carbohydrates (TNC) ลดลง แต่ TA เพิ่มขึ้นเมื่อการเก็บรักษานานขึ้นในสภาพบรรยากาศดัดแปลงที่อุณหภูมิ 10oซ. และความเสียหายที่เกิดจาก CO2(CO2 injury) และ CI มีความรุนแรงมากขึ้น อาการCI ที่พบ คือ ผิวของผลมีสีน้ำตาลไหม้ เนื้อของผลช้ำหรือมีสีน้ำตาลไหม้ endocarp มีสีดำ seed coat และ cotyledon มีสีคล้ำ CO2 injury เกิดขึ้นมากในถุง PP ที่ไม่ได้เจาะรู และ CI นั้นเกิดขึ้นน้อยในถุง PP และ PE ที่เจาะรู เมื่อเก็บรักษาผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ในถุง PP เจาะรูเข็มหมุด 4, 8 และ 12 รู ที่อุณหภูมิ 10oซ. และ RH 90-93% พบว่า ผลมะม่วงที่เก็บรักษาในถุง PP เจาะรูเข็มหมุด 8 และ 12 รู มีอายุการเก็บรักษาได้นานกว่าการเก็บรักษาในสภาพอื่น ๆ คือ เก็บรักษาได้นานเท่ากัน คือ 23 วัน บรรยากาศภายในถุง PP เจาะรูเข็มหมุด 8 และ 12 รู มี CO2, O2 และ C2H4  เฉลี่ยในระหว่างการเก็บรักษา 11.60-15.60%, 10.69-13.67% และ 0.15-0.93 ppm ตามลำดับ ถุง PP เจาะรูเข็มหมุด 8 และ 12 รู สามารถลดการสูญเสียน้ำหนัก ลดอาการเหี่ยว ชะลอกระบวนการสุกทั้งทางกายภาพและชีวเคมี และลดการเกิด CI ของผลมะม่วงได้ ผลมะม่วงที่เก็บรักษาในถุงพลาสติกที่อุณหภูมิ 10oซ. และวางไว้ให้สุกที่อุณหภูมิห้องมี TSS, TSS/TA ratio, วิตามินซี, TNC, total sugars, แป้ง และ b-carotene ลดลง แต่มี TA และ CI เพิ่มขึ้นเมื่อการเก็บรักษานานขึ้นในสภาพบรรยากาศดัดแปลงและอุณหภูมิ 10oซ. อาการ CI ที่พบ คือ endocarp มีสีดำ seed coat และ cotyledon มีสีคล้ำ และเนื้อของผลมีสีน้ำตาลไหม้ แต่ไม่พบอาการสีน้ำตาลไหม้ที่ผิวของผลและไม่เกิด CO2 injury