บทคัดย่องานวิจัย

สรีรวิทยา คุณภาพ และอายุการเก็บรักษาของผลกล้วยหอมในกลุ่มคาเวนดิชที่เก็บเกี่ยวเมื่ออายุต่างกัน

สมชาย เล่ห์เหลี่ยม

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 2539. 81 หน้า.

2539

บทคัดย่อ

สรีรวิทยา คุณภาพ และอายุการเก็บรักษาของผลกล้วยหอมในกลุ่มคาเวนดิชที่เก็บเกี่ยวเมื่ออายุต่างกัน ที่อุณหภูมิ 25+1oซ ผลกล้วยหอมพันธุ์วิลเลียมส์ แกรนด์เนน และโฮชูชู ซึ่งเก็บเกี่ยวเมื่อมีอายุ 80, 90 และ 100 วันหลังแทงปลี มีอัตราการหายใจสูงสุด (CP) เฉลี่ย 451.4, 449.2 และ 419.0 มก.CO2/กก./ชม. โดยปรากฎขึ้นหลังจากเก็บเกี่ยว 9, 9 และ 8 วัน ตามลำดับ ในขณะที่การผลิตเอทิลีนสูงสุด (EP) เฉลี่ยมีค่า 46.4, 44.6 และ 45.5 มค.ล./กก./ชม. และปรากฏขึ้นหลังจากเก็บเกี่ยว 8, 8 และ 6 วัน ตามลำดับ CP และ EP ปรากฏเร็วขึ้นเมื่อผลมีอายุมากขึ้น หลังการเก็บเกี่ยว ผลกล้วยหอมพันธุ์วิลเลียมส์ แกรนด์เนน และ โฮชูชู มีค่าความแน่นเนื้อเฉลี่ย 69.8, 69.0 และ 60.8 นิวตัน ปริมาณแป้งเฉลี่ย 27.2, 27.3 และ 22.9% ปริมาณ Soluble solids (SS) เฉลี่ย 1.6, 1.6 และ 1.7% ตามลำดับ ความแน่นเนื้อและปริมาณแป้งลดลง ในขณะที่ปริมาณ SS, TA และ TS เพิ่มมากขึ้นเมื่อผลอายุมากขึ้น ภายหลังการบ่มด้วยเอทิลีนที่อุณหภูมิ 20+1oซ  เป็นเวลา 1 วัน ผลกล้วยหอมพันธุ์วิลเลียมส์ แกรนด์เนน และโฮชูชู ใช้เวลาในการสุกที่อุณหภูมิ 25oซ  เฉลี่ย 4.8, 4.9 และ 3.7 วัน โดยสูญเสียน้ำหนักเฉลี่ย 2.5, 2.4 และ 1.9% ตามลำดับ เวลาที่ใช้ในการสุกและการสูญเสียน้ำหนักเฉลี่ยลดลงเมื่อผลมีอายุมากขึ้น ผลกล้วยหอมพันธุ์วิลเลียมส์ และแกรนด์เนน  มีคุณภาพการรับประทานสูงสุดหลังบ่มให้สุกเมื่อเก็บเกี่ยวที่อายุ 90 วัน ขณะที่พันธุ์โฮชูชูคืออายุ 80 วัน ระหว่างการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 14+1oซ  (ความชื้นสัมพัทธ์ 85-90%) ปริมาณ SS, TA และ TS ของผลกล้วยทุกพันธุ์ที่ทุกอายุการเก็บเกี่ยวเพิ่มมากขึ้นตามระยะเวลาการเก็บรักษา ในขณะที่ความแน่นเนื้อและปริมาณแป้งลดลง หลังการเก็บรักษาเป็นเวลา 3 สัปดาห์ ผลกล้วยหอมยังเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคหลังจากบ่มให้สุกแล้ว