บทคัดย่องานวิจัย

ผลของการใช้ไฮดรอกซีควิโนลีนซัลเฟต ซิลเวอร์ไนเตรท ซิลเวอร์ไธโอซัลเฟต กลูโคส และซูโครส ที่มีต่ออายุการปักแจกันของดอกกล้วยไม้หวายวอลเตอร์ โอมาย (Dendrobium Walter Oumae)

เกยูร ธีรเจริญปัญญา

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2529, 86 หน้า.

2529

บทคัดย่อ

ผลของการใช้ไฮดรอกซีควิโนลีนซัลเฟต ซิลเวอร์ไนเตรท ซิลเวอร์ไธโอซัลเฟต กลูโคส และซูโครส ที่มีต่ออายุการปักแจกันของดอกกล้วยไม้หวายวอลเตอร์ โอมาย (Dendrobium Walter Oumae) การศึกษาการยืดอายุการปักแจกันของดอกกล้วยไม้หวายวอลเตอร์ โอมาย (Dendrobium Walter Oumae) โดยใช้ซูโครส กลูโคส ไฮดรอกซีควิโนลีนซัลเฟต ซิลเวอร์ไนเตรท และซิลเวอร์ไธโอซัลเฟต  ที่ระดับความเข้มข้นต่าง ๆ ในน้ำประปา ในสภาพห้องทดลองที่ไม่ได้ควบคุมอุณหภูมิและความชื้น พบว่าการใช้สารละลายไฮดรอกซีควิโนลีนซัลเฟต 150 มก/ลิตร ซูโครส 10% ร่วมกับซิลเวอร์ไนเตรท 30 มก/ลิตร (สารละลายสูตรสมบูรณ์) ใช้ได้ผลดีที่สุดในการยืดอายุปักแจกันของดอกกล้วยไม้หวายวอลเตอร์ โอมาย โดยทำให้มีอายุการปักแจกันนานที่สุดถึง 31 วัน และมีการบานของดอกตูมเพิ่มขึ้น 77.71% ในขณะที่ดอกกล้วยไม้ที่ปักแจกันในน้ำประปามีอายุการปักแจกันเพียง 10.75 วัน และมีการบานของดอกตูมเพียง 14.95% และน้ำยานี้ไม่มีผลต่อเวลาที่ดอกเริ่มเหี่ยวดอกแรก

เมื่อนำสารละลายสูตรสมบูรณ์มาใช้กับดอกกล้วยไม้พันธุ์เดียวกันจากแหล่งปลูกต่าง ๆ กัน พบว่าดอกกล้วยไม้หวายวอลเตอร์ โอมาย จากแหล่งปลูกต่าง ๆ มีการตอบสนองต่อสารละลายได้ดีกว่าดอกกล้วยไม้จากแหล่งปลูกที่มีอายุการปักแจกันนาน และสารละลายสูตรนี้เมื่อนำมาใช้กับดอกกล้วยไม้สกุลเดียวกันแต่ต่างพันธุ์กันคือ หวายขาวปากแดง (Den.Youppadeewan) และหวายปอมปาดัวร์ (Den. Pompadour) พบว่าการตอบสนองแตกต่างจากหวายวอลเตอร์ โอมาย โดยหวายปอมปาดัวร์มีการตอบสนองต่อสารละลายสูตรสมบูรณ์น้อยกว่าหวายขาวปากแดงและหวายวอลเตอร์ โอมาย

การแช่ปลายก้านดอกกล้วยไม้หวายวอลเตอร์ โอมาย ในสารละลายไฮดรอกซีควิโนลีนซัลเฟต 200 มก/ลิตร ซูโครส 10% ร่วมกับซิลเวอร์ไนเตรท 200 มก/ลิตร ที่มี pH ของสารละลายเป็น 4 และแช่เป็นเวลา 4 ชั่วโมง ก่อนนำดอกกล้วยไม้ไปปักแจกันในน้ำประปา ทำให้อายุการปักแจกันเพิ่มขึ้น 4 วัน เมื่อนำสารละลายสูตรสมบูรณ์มาใช้กับดอกกล้วยไม้หวายวอลเตอร์ โอมาย ที่บรรจุในกล่องกระดาษเลียนแบบการส่งออกดอกกล้วยไม้เป็นเวลา 3 วัน พบว่าดอกกล้วยไม้ที่โคนก้านช่อดอกเสียบในหลอดพลาสติกที่มีน้ำยาไม่มีการร่วงของดอกและเมื่อนำไปปักแจกันในน้ำยาหรือสารละลายสูตรเดียวกันนี้ทำให้มีอายุการปักแจกันนาน 27 วัน ในขณะที่ดอกกล้วยไม้ที่ปลายก้านช่อดอกอยู่ในหลอดพลาสติกที่มีน้ำประปาแล้วนำไปปักแจกันในน้ำประปามีอายุการปักแจกันเพียง 6.38 วัน และมีการร่วงของดอกถึง 43% ระหว่างที่อยู่ในกล่องกระดาษ

อัตราการดูดน้ำ ปริมาณการดูดน้ำรวม และน้ำหนักสดของดอกกล้วยไม้หวายวอลเตอร์ โอมาย ที่ปักแจกันในสารละลายสูตรสมบูรณ์ มากกว่าดอกกล้วยไม้ที่ปักแจกันในน้ำประปา การย้อมชิ้นส่วนปลายก้านช่อดอกที่ปักแจกันในน้ำและสารละลายสูตรสมบูรณ์ด้วย ruthenium red และ phloroglucinol ไม่พบว่ามีการอุดตันของสารเพกติน ลิกนิน หรือ แทนนิน ตรงบริเวณท่อลำเลียงในโคนก้านดอกกล้วยไม้ แต่กลุ่มของท่อน้ำในก้านช่อดอกที่ปักแจกันในน้ำประปามีสีคล้ำมากกว่าที่ปักแจกันในน้ำยา