บทคัดย่องานวิจัย

การศึกษาแนวทางยืดอายุการปักแจกันและการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาบางประการหลังการเก็บเกี่ยวของช่อดอกปทุมมา

กนกพร บุญญะอติชาติ

วิทยานิพนธ์ (วท.ม. (เกษตรศาสตร์)) สาขาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2541. 95 หน้า.

2541

บทคัดย่อ

การศึกษาแนวทางยืดอายุการปักแจกันและการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาบางประการหลังการเก็บเกี่ยวของช่อดอกปทุมมา การศึกษาแนงทางการยืดอายุการปักแจกันและการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาบางประการหลังการเก็บเกี่ยวของดอกปทุมมาพันธุ์เชียงใหม่ พบว่าวัยการตัดดอกที่เหมาะสมสำหรับหารปักแจกันคือเมื่อดอกย่อยบาน 2-6 ดอก ซึ่งมีอายุปักแจกันไม่แตกต่างทางสถิติ ลักษณะการเสื่อมสภาพของช่อดอกปทุมมาที่พบ คือ coma bract หรือ bract มีการเปลี่ยนสีบริเวณปลายเป็นสีน้ำตาล โคนก้านดอกลีบระหว่างการปักแจกันไม่ว่าในน้ำกลั่นหรือสารละลายเคมี ดอกย่อยที่บานมีการหายใจและการผลิตเอทิลีนในชั่วโมงแรกต่ำ จากนั้นเริ่มสูงขึ้นเมื่อดอกเริ่มเสื่อมสภาพ coma bract และดอกย่อยที่เป็นดอกตูมมีแนวโน้มการหายใจและการผลิตเอทิลีนสูงในวันแรกจากนั้นลดลงสลับกับเพิ่มขึ้นจนกระทั่งหมดอายุการใช้งาน ดอกปทุมมามีการเสื่อมสภาพเมื่อได้รับเอทิลีนจากภายนอก แต่ coma bract ไม่ตอบสนองต่อเอทิลีนจากภายนอก ขณะที่ดอกย่อยตูมมีการตอบสนอง โดยดอกตูมไม่บานและเกิดการฉ่ำน้ำเมื่อได้รับเอทิลีน  1 1.5 และ 2 นาโนลิตร/ล. การใช้สารเคมียืดอายุปักแจกันซึ่งประกอบด้วยน้ำตาลคือ ซูโครส และกลูโคส 2 4 6 และ 8% สารฆ่าจุลินทรีย์ คือ 8-hydroxyquinoline sulphate (HQS) 25 50 75 100 และ 125 มก./ล. Sodium dichloroisocyanurate (DICA) 50 100 และ 150 มก./ล cobalt chloride 100 150 และ 200 มก./ล. sodium  benzoate (Na-BZ) 25 50 75 100 และ 125 มก./ล.สารยับยั้งการสร้างเอทิลีน aminooxyacetic acid 0.1 0.2 และ  0.3 มิลลิโมลาร์ สารควบคุมการเจริญเติบโต คือ gibberellic acid (GA3) 50 100 และ 150 มก./ล. N6-benzyladenine (BA) 10 20 และ 30 มก./ล.  และสารละลาย HQS 15 และ 25 มก./ล. ร่วมกับซูโครส 1 หรือ 2%  สารละลาย DICA 150 และ 200 มก./ล. ร่วมกับซูโครส 1 หรือ 2%  สารละลาย GA3 50 100 และ 150 มก./ล ร่วมกับซูโครส 0.5 หรือ 1% ทำให้มีอายุการปักแจกันสั้นลงกว่าการปักแจกันในน้ำกลั่น แต่สารละลาย GA3 50 100 และ 150 มก./ล. ทำให้ก้านช่อดอกไม่ลีบ การเก็บรักษาดอกปทุมมาแบบเปียกโดยใช้น้ำกลั่นชุบสำลีหุ้มโคนก้านดอกที่อุณหภูมิ 5 o 7 o 10 o และ 13 oซ. พบว่าการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13 o ซ. ให้อายุเก็บรักษานานที่สุด และที่อุณหภูมิ 5 oซ. มีอายุเก็บรักษาสั้นที่สุด แต่การเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 7 oซ. ให้อายุปักแจกันยาวที่สุด การจำลองการขนส่งดอกปทุมมาโดยการไม่แช่และแช่ก้านช่อดอกในน้ำกลั่นหรือสารละลาย GA350 มก./ล. แล้วหุ้มโคนก้านดอกด้วยสำลีชุบสารละลายชนิดเดียวกัน บรรจุลงกล่องกระดาษซึ่งมีสารดูดซับเอทิลีน ขนส่งโดยรถปรับอากาศจากเชียงใหม่มายังนครปฐม แล้วนำมาปักแจกันในสารละลายชนิดเดียวกันกับที่หุ้มโคนก้านช่อดอก พบว่าชนิดของสารละลายเคมีที่ใช้และสารดูดซับเอทิลีน ไม่มีผลต่ออายุปักแจกัน แต่การแช่น้ำโคนก้านดอกในน้ำทันทีหลังตัดทำให้มีอายุปักแจกันได้นานขึ้น