บทคัดย่องานวิจัย

เอนไซม์และสารตัวกลางในการสร้างเอทิลีนในผลทุเรียน

พีระศักดิ์ ฉายประสาท

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 2536. 67 หน้า.

2536

บทคัดย่อ

เอนไซม์และสารตัวกลางในการสร้างเอทิลีนในผลทุเรียน

การศึกษาเปรียบเทียบกระบวนการชีวสังเคราะห์ของเอทิลีนซึ่งเป็นปัจจัยควบคุมการสุกของผลทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่มีอัตราการสุกช้ากว่าพันธุ์ชะนี พบว่าทุเรียนทั้งสองพันธุ์มีความสามารถในการผลิตเอทิลีนได้สูงตั้งแต่อายุเพียง 1 เดือน กล่าวคือมีอัตราปฏิกิริยาของเอนไซม์ ACC synthase และ ethylene forming enzyme (EFE) ปริมาณ ACC และ MACC สูง แล้วลดลงเมื่ออายุของผลมากขึ้นทั้งในส่วนเปลือกและเนื้อ โดยพันธุ์ชะนีมีอยู่สูงกว่าพันธุ์หมอนทอง เมื่อนำทุเรียนทั้งสองพันธุ์ที่มีความบริบูรณ์ทางสรีรวิทยา (physiological maturity) มาเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้องเป็นระยะเวลาแตกต่างกัน พบว่าทุเรียนทั้งสองพันธุ์มีอัตราปฏิกิริยาของเอนไซม์ ACC synthase เพิ่มขึ้นตามอายุการเก็บรักษาแล้วลดลงในตอนท้ายทั้งในส่วนเปลือกและเนื้อ โดยที่เปลือกมีอัตราสูงกว่าเนื้อ และทุเรียนพันธุ์หมอนทองมีอัตราปฏิกิริยาของเอนไซม์นี้ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นช้ากว่าพันธุ์ชะนี  ปริมาณ ACC ในส่วนเปลือกและเนื้อของทุเรียนทั้งสองพันธุ์เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาเก็บรักษาโดยมีปริมาณมากที่สุดในวันสุดท้ายของการเก็บรักษา แต่พันธุ์ชะนีมีปริมาณ ACC มากกว่าพันธุ์หมอนทอง และในส่วนเนื้อของทุเรียนทั้งสองพันธุ์มีปริมาณ ACC มากกว่าส่วนเปลือก  ปริมาณ MACC เพิ่มขึ้นตามอายุการเก็บรักษาในพันธุ์ชะนี  ส่วนในพันธุ์หมอนทองมีปริมาณค่อนข้างต่ำ และมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงไม่ชัดเจน สำหรับอัตราปฏิกิริยาของเอนไซม์ EFE ของทุเรียนทั้งสองพันธุ์เพิ่มขึ้นตามอายุการเก็บรักษาแล้วลดลงในพันธุ์หมอนทองแต่ไม่ลดลงในพันธุ์ชะนี โดยส่วนเปลือกมีมากกว่าส่วนเนื้อ และทุเรียนพันธุ์ชะนีมีน้อยกว่าพันธุ์หมอนทอง ดังนั้นการสร้างเอทิลีนซึ่งควบคุมการสุกในผลทุเรียนจึงขึ้นอยู่กับการทำงานของ ACC synthase เป็นส่วนใหญ่