บทคัดย่องานวิจัย

ผลของการใช้ Aminooxyacetic Acid (AOA) และกลูโคสต่ออายุการปักแจกันและการเปลี่ยนแปลงทางด้านสรีระวิทยาของดอกกล้วยไม้หวาย JYT

จตุรภัทร รัตนวิศาลนนท์

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 124 หน้า.

2541

บทคัดย่อ

ผลของการใช้ Aminooxyacetic Acid (AOA) และกลูโคสต่ออายุการปักแจกันและการเปลี่ยนแปลงทางด้านสรีระวิทยาของดอกกล้วยไม้หวาย JYT การศึกษาการใช้สารละลาย AOA ร่วมกับกลูโคสและซูโครสที่มีผลต่ออายุการปักแจกันและการเปลี่ยนแปลงทางด้านสรีระวิทยาของดอกกล้วยไม้หวาย JYT (Dendrobium Jew Yuay Tew) พบว่าดอกกล้วยไม้ที่ปักแจกันในสารละลายกลูโคสให้ผลในการยืดอายุการปักแจกันของดอกกล้วยไม้ได้ดีกว่าสารละลายซูโครสและสารละลายกลูโคส 4% + AOA 0.5 mM ทำให้ดอกกล้วยไม้มีอายุการปักแจกันนานที่สุด (18.2 วัน) พร้อมทั้งมีดอกตูมบาน น้ำหนักสด และการดูดน้ำเพิ่มมากกว่าทรีตเมนต์อื่น ๆ เมื่อปรับ pH ของสารละลายกลูโคส 4% + AOA 0.5 mM เพิ่มขึ้นจาก pH 3.2 เป็น 4.2 และ 5.2 พบว่า ประสิทธิภาพของสารละลายกลูโคส 4% + AOA 0.5 mM ในการยืดอายุการปักแจกันลดลง การปรับ pH ของสารละลายกลูโคสให้มีสภาพเป็นกรด (pH 3.2) สามารถยืดอายุการปักแจกันของดอกไม้แต่ไม่ได้ดีเท่ากับสารละลายกลูโคส 4% + AOA 0.5 mM ที่ไม่ปรับ pH ส่วนการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่โคนก้านช่อดอกโดยคลอร็อกซ์สามารถลดประชากรจุลินทรีย์ในสารละลายที่ปักแจกันดอกกล้วยไม้ได้ แต่การปักแจกันในสารละลายกลูโคส 4% + AOA 0.5 mM สามารถลดประชากรจุลินทรีย์ได้ดีกว่าการฆ่าจุลินทรีย์ที่โคนก้านดอกโดยคลอร็อกซ์ และการแช่โคนก้านช่อดอกในสารละลายคลอร็อกซ์ 5, 10และ 15% นาน 3ชั่วโมงก่อนปักแจกันในสารละลายกลูโคส 4% + AOA 0.5 mM สามารถเพิ่มอายุการปักแจกันของดอกกล้วยไม้ได้ ในขณะที่การแช่โคนก้านดอกในสารละลายคลอร็อกซ์ 20% นาน 3 ชั่วโมงกลับเป็นพิษต่อโคนก้านช่อดอก

ช่อดอกกล้วยไม้ที่มีเฉพาะดอกบานและปักแจกันในสารละลายกลูโคส 4% + AOA 0.5 mM มีการสร้างเอทธิลีนน้อยกว่าช่อดอกบานที่ปักแจกันในน้ำกลั่น แต่สารละลายกลูโคส 4% + AOA 0.5 mM ไม่ได้ทำให้กิจกรรมของ ACC synthase และปริมาณของ ACC ในกลีบดอกวงนอกและกลีบดอกวงใน และเส้าเกสรรวมกับก้านดอกย่อยมีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดกับช่อดอกกล้วยไม้ที่ปักแจกันในน้ำกลั่น