บทคัดย่องานวิจัย

ผลกระทบของการใช้สารเคมี การลดอุณหภูมิ และการใช้ฟิล์มพลาสติกห่อผล ที่มีต่อคุณภาพและอายุการเก็บรักษาของผลลิ้นจี่

กัลปพฤกษ์ ลีละวัฒน์

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2534, 128 หน้า.

2534

บทคัดย่อ

ผลกระทบของการใช้สารเคมี การลดอุณหภูมิ และการใช้ฟิล์มพลาสติกห่อผล ที่มีต่อคุณภาพและอายุการเก็บรักษาของผลลิ้นจี่ การศึกษาการใช้สารเคมี การลดอุณหภูมิ การใช้ฟิล์มพลาสติก และการเก็บรักษาเพื่อลดการเน่าเสียและการเกิดสีน้ำตาลของผลลิ้นจี่หลายพันธุ์ การใช้สารเคมีเพื่อควบคุมโรคผลเน่าของผลลิ้นจี่พันธุ์จีนจากภาคกลางทำโดยจุ่มผลลิ้นจี่ในสารละลายบอเรท สารละลายเบโนมิล สารละลาย ไทโอยูเรีย และการใช้ผลโปแตสเซียมเมตาไบซัลไฟท์ ในอัตราต่าง ๆ แล้วบรรจุผลลิ้นจี่ในถาดโฟมและห่อด้วยฟิล์มพีวีซี และเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้อง ผลปราฏว่าเบโนมิล 500 มก./ลิตร 52 oซ. และ บอเรท ใช้ควบคุมโรคผลเน่าได้แต่ลดการเกิดสีน้ำตาลของผิวผลได้ไม่ดี ขณะที่บอเรทให้ผลด้อยกว่าในการควบคุมการเน่าเสียของผล แต่สามารถลดการเกิดสีน้ำตาลได้

การใช้พลาสติกพีอี พีพี และพีวีซี ห่อผลลิ้นจี่พันธุ์จีนร่วมกับการใช้สารละลายบอเรท 50 มก./ลิตร และเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 4.5oซ. ผลปรากฏว่าผลลิ้นจี่ที่ห่อด้วยพลาสติกพีอีมีการสูญเสียน้ำหนักและการเกิดสีน้ำตาลน้อยที่สุด การใช้ฟิล์มพีวีซีชื่อการค้าต่าง ๆ ร่วมกับการใช้สารละลายบอเรท 50 มก./ลิตร บรรจุผลลิ้นจี่ในถาดโฟมและห่อด้วยพลาสติกเหล่านี้ และเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้อง ผลปราฏว่าผลลิ้นจี่ที่ไม่ได้จุ่มในสารละลายบอเรทและห่อด้วยฟิล์มพีวีซี Sun Wrap มีการเกิดสีน้ำตาลน้อยที่สุด ในขณะที่การเกิดโรคของผลลิ้นจี่ที่ห่อด้วยฟิล์มพีวีซีแต่ละชนิดไม่แตกต่างทางสถิติ การเคลือบผิวผลลิ้นจี่ในสารเคลือบผิว Sta Fresh # 360 กับผลลิ้นจี่พันธุ์ฮงฮวยและเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5oซ. ผลปรากฏว่าสารเคลือบผิวไม่สามารถลดการเกิดสีน้ำตาลและยังทำให้ผลลิ้นจี่มีการเสื่อมสภาพได้เร็วกว่าที่ไม่ได้เคลือบผิว

การจุ่มผลลิ้นจี่พันธุ์ฮงฮวยจากภาคเหนือใน HCl และ H2SO4 ที่ pH 0.6  0.4 และ 0.2 นาน 5  10 และ 15 นาที โดยทำทันทีเมื่อขนส่งถึงห้องปฏิบัติการ และเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5.5oซ. ผลปรากฏว่าผลลิ้นจี่จุ่มใน H2SO4 ที่ pH 0.2 นาน 15 นาที มีการเกิดสีน้ำตาลน้อยกว่าผลลิ้นจี่ที่จุ่มใน HCl และ H2SO4 ระดับ pH และระยะเวลาอื่น ๆ การจุ่มผลลิ้นจี่พันธุ์ฮงฮวยและโอเฮียะใน H2SO4 ที่ pH 0.2 นาน 15 นาที ก่อนหรือหลังการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5.5oซ.  ผลปรากฏว่าผลลิ้นจี่พันธุ์ฮงฮวยจุ่มใน H2SO4 ที่ pH 0.2 นาน 10 นาที ก่อนการเก็บรักษามรการเกิดสีน้ำตาลและแอนโธไซยานินลดลงน้อยกว่าผลลิ้นจี่ที่จุ่มในสารละลายกรดหลังการเก็บรักษา ในขณะที่พันธุ์โอเฮียะให้ผลตรงข้ามกัน

การลดอุณหภูมิผลลิ้นจี่พันธุ์ฮงฮวยโดยวิธีน้ำเย็น และห้องเย็น เพื่อให้อุณหภูมิภายในผลลดลงถึง 5oซ. พบว่าน้ำเย็นลดอุณหภูมิของผลลิ้นจี่ได้เร็วกว่าห้องเย็น ลิ้นจี่ไม่ได้ผลและลดอุณหภูมิโดยน้ำเย็นและห้องเย็น บรรจุในกล่องกระดาษลูกฟูกขนาด 31 x 41 x 22.5 ซม. บุภาชนะด้วยพลาสติกพีอี และขนส่งโดยรถยนต์มายังห้องปฏิบัติการพืชสวนและนำมาเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5oซ. ผลปรากฏว่าอายุการเก็บรักษาของผลลิ้นจี่พันธุ์ฮงฮวยที่ไม่ได้ลดอุณหภูมิและลดอุณหภูมิไม่ต่างกัน แต่ผลลิ้นจี่ที่บรรจุในกล่องกระดาษบุด้วยพลาสติกพีอีมีอายุการเก็บรักษามากกว่า ผลลิ้นจี่ที่ลดอุณหภูมิโดย hydrocooling และบรรจุในกล่องกระดาษที่บุด้วยพลาสติกพีอีมีคุณภาพภายนอกดีที่สุดโดยผลไม่ปรากฏผิวสีน้ำตาลเลยใน 6 วันแรก ขณะที่ผลลิ้นจี่ในทรีตเมนท์อื่นมีการเกิดผิวสีน้ำตาลมากน้อยต่างกัน