บทคัดย่องานวิจัย

ความสัมพันธ์ระหว่างการผสมเกสร การผลิตเอทิลีน และการเสื่อมสภาพของกล้วยไม้หวายซีซาร์ 4N

ประภาพร ไชยเจริญ

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาวิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2539. 82 หน้า

2539

บทคัดย่อ

ความสัมพันธ์ระหว่างการผสมเกสร การผลิตเอทิลีน และการเสื่อมสภาพของกล้วยไม้หวายซีซาร์ 4Nง จากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการผสมเกสร การผลิตเอทิลีน และการเสื่อมสภาพของกล้วยไม้หวายซีซาร์ 4N พบว่า การผสมเกสรโดยใช้ก้อนเรณูจากดอกกล้วยไม้หวายขาวกลม ทำให้ดอกกล้วยไม้หวายซีซาร์ 4N เสื่อมสภาพอย่างรวดเร็ว (ประมาณ 3-4 วันหลังผสมเกสร) โดยดอกแสดงอาการคว่ำลง กลีบดอกบริเวณปากเปลี่ยนเป็นสีเหลือง จากนั้นกลีบดอกส่วนอื่น ๆ เริ่มเป็นสีเหลืองและลู่ลง และมีเส้นเวนเกิดขึ้นบนกลีบดอก รวมทั้งมีการขยายขนาดของรังไข่ด้วย ในขณะที่การผสมเกสรโดยใช้ก้อนเรณูจากดอกกล้วยไม้หวายซีซาร์ 4N  ทำให้ดอกกล้วยไม้เสื่อมสภาพช้ากว่า (ประมาณ 10-12 วัน หลังผสมเกสร) ส่วนดอกกล้วยไม้ที่ไม่ได้รับการผสมเกสรเสื่อมสภาพในเวลา 13-16 วัน โดยดอกกล้วยไม้เริ่มแสดงอาการเหี่ยวกลีบดอกลู่ลงและเห็นเส้นเวนบนกลีบดอกชัดเจนโดยไม่มีการขยายขนาดของรังไข่ เมื่อผสมเกสรดอกกล้วยไม้หวายซีซาร์ 4N  โดยใช้ก้อนเรณูจากดอกกล้วยไม้หวายขาวกลมที่ผ่านการอบความร้อน พบว่า ดอกกล้วยไม้เสื่อมสภาพช้ากว่าเมื่อผสมเกสรโดยใช้ก้อนเรณูที่ไม่ผ่านการอบความร้อน พบว่า ดอกกล้วยไม้เสื่อมสภาพช้ากว่าเมื่อผสมเกสรโดยใช้ก้อนเรณูที่ไม่ผ่านการอบความร้อน และการวางกระดาษสาบนแอ่งยอดเกสรตัวเมียก่อนผสมเกสร ทำให้ดอกกล้วยไม้เสื่อมสภาพช้ากว่าเมื่อผสมเกสรโดยไม่มีการวางกระดาษสา สำหรับการนำก้อนเรณูออกหลังผสมเกสรนั้น ทำให้การเสื่อมสภาพเกิดขึ้นในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกับเมื่อผสมเกสรและไม่นำก้อนเรณูออก เมื่อแช่โคนก้านดอกกล้วยไม้ในสารละลาย ACC พบว่า ดอกกล้วยไม้เสื่อมสภาพในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกับดอกกล้วยไม้ที่ได้รับการผสมเกสร และการแช่โคนก้านดอกกล้วยไม้ในสารละลาย AOA สามารถชะลอการเสื่อมสภาพของดอกกล้วยไม้หวายซีซาร์ 4N ที่ได้รับการผสมเกสรโดยใช้ก้อนเรณูจากดอกกล้วยไม้หวายขาวกลมได้ แต่ AOA ไม่สามารถชะลอการเสื่อมสภาพของดอกกล้วยไม้หวายซีซาร์ 4N  ที่ได้รับ ACC จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าการผสมเกสรทำให้ดอกกล้วยไม้เสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ และการเสื่อมสภาพนี้เกิดจากเอทิลีนที่ดอกกล้วยไม้สร้างขึ้นหลังได้รับการผสมเกสร การผสมเกสรชักนำให้เกิดการสังเคราะห์ ACC เพิ่มขึ้น และมีกิจกรรมของ  ACC oxidase เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการเพิ่มอัตราการผลิตเอทิลีน