บทคัดย่องานวิจัย

การขจัดความฝาดในผลพลับ (Diospyros kaki L.) ด้วยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ และการเก็บรักษา

มานิตย์ โฆษิตตระกูล

วิทยานิพนธ์ (วท.ม. (เกษตรศาสตร์)) คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ. 2525. 57 หน้า.

2525

บทคัดย่อ

การขจัดความฝาดในผลพลับ (Diospyros kaki L.) ด้วยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ และการเก็บรักษา ทำการศึกษาลักษณะบางประการและการเปลี่ยนแปลงความแน่นของเนื้อ soluble solids (SS) และความฝาดในระยะต่าง ๆ กันของผลพลับจากต้นเบอร์ 18-001 ที่ส่งมาจากสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่ และคัดเลือกผลพลับระยะที่เปลือกเป็นสีเขียวอมเหลือง แล้วนำไปบรรจุถุงพลาสติกที่มีความหนา 5 มิล (0.005 นิ้ว) ปิดปากถุงให้แน่น ดูดเอาอากาศออกให้หมดแล้วจึงเติม CO2 จนกระทั่งถุงพลาสติกขยายตัวเต็มที่ ต่อจากนั้นจึงนำถุงผลพลับไปเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้อง (30oซ. และ 70% RH) หลังจากผลพลับถูกขจัดความฝาดหมดแล้วจึงทำการเก็บรักษาในภาชนะบรรจุต่าง ๆ กันที่อุณหภูมิห้อง (31oซ. และ 72% RH), 1oซ. และ 82% RH, 4oซ. และ 82% RH และ 8oซ. และ 83% RH

ผลพลับจากต้นเบอร์ 18-001 มีน้ำหนักเฉลี่ย 147 กรัม รูปร่างผลค่อนข้างกลม สัดส่วนความกว้าง: ความยาว: ความสูง ประมาณ 1: 1: 1 ปริมาตร 142.6 ลบ.ซม. มี 7-8 carpels ต่อผล และในแต่ละผลมี 0-3 เมล็ด ตั้งแต่ผลพลับมีเปลือกสีเขียวจนกระทั่งเปลือกสีแดงนั้น ความแน่นของเนื้อ SS และความฝาดจะลดลงตามลำดับ ผลพลับที่อยู่ในบรรยากาศ CO2 เป็นเวลา 5 วันจะปราศจากรสฝาด และมีความแน่นของเนื้อและ SS เท่ากับ 13.45 กก/ตร.ซม. และ 11.0% ส่วนสีเปลือกนั้นไม่เปลี่ยนแปลง ผลพลับที่ปราศจากรสฝาดซึ่งเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลา 5 วัน มีความแน่นของเนื้อเท่ากับ 0.59 กก/ตร.ซม. SS 13.4% และเปลือกเป็นสีแสด อายุการเก็บรักษาสูงสุดของผลพลับที่รสชาติยังเป็นปกติที่ 1o, 4o และ 8oซ.  เท่ากับ 4, 4 และ 2 สัปดาห์ โดยชนิดของภาชนะไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวข้างต้น อุณหภูมิต่ำมีผลทำให้การลดลงของความแน่นของเนื้อเป็นไปอย่างช้า ๆ อย่างไรก็ตาม ผลพลับบางผลในกระบะพลาสติกที่ 1oซ. แสดงอาการ chilling injury และการสูญเสียน้ำหนักของผลพลับเพิ่มขึ้นตามอุณหภูมิ โดยพวกซึ่งเก็บรักษาในกระบะพลาสติกสูญเสียน้ำหนักมากกว่าพวกที่อยู่ในถุงพลาสติกเจาะรู ส่วนผลพลับที่เก็บรักษาในถุงพลาสติกไม่มีการสูญเสียน้ำหนัก