บทคัดย่องานวิจัย

อิทธิพลของความชื้นและการตกกระทบของเมล็ดที่มีต่อคุณภาพ และความสามารถในการเก็บรักษาของเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง สจ. 5 ที่ได้จากการปลูกในอัตราที่แตกต่างๆ กัน 2 ระดับ

สวัสดิ์ หาญปราบ

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาพืชไร่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2535, 104 หน้า.

2535

บทคัดย่อ

อิทธิพลของความชื้นและการตกกระทบของเมล็ดที่มีต่อคุณภาพ และความสามารถในการเก็บรักษาของเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง สจ.5

                การทดลองนี้ศึกษาอิทธิพลของความชื้นของเมล็ดและพื้นผิวการตกกระทบในระหว่างกระบวนการปรับปรุงสภาพ  (seed  processing)  ที่มีต่อคุณภาพและความสามารถในการเก็บรักษาของเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง  สจ.5  ที่ได้จากการปลูกในอัตราที่แตกต่างกัน  2 ระดับ  ทำการทดลองในฤดูแล้งปี 2533  ณ  แปลงขยายพันธุ์พืช  และโรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ของศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 17  อ.เมือง  จ.ขอนแก่น  ใช้แผนการทดลองแบบ  split-split plot  มี  4 ซ้ำ  ผลของการศึกษาพบว่าการปลูกถั่วเหลือง  สจ.5  อัตราปลูก 10  และ  23  กิโลกรัมเมล็ดต่อไร่  (จำนวนต้นกล้า  30.48  และ  75.59  ต้นต่อตารางเมตร)  ไม่มีผลทำให้ผลผลิต  คุณภาพของเมล็ดพันธุ์และความสามารถในการเก็บรักษาแตกต่างกัน  แต่มีจำนวนฝักต่อต้นสัดส่วนเมล็ดเสีย  และการกระจายของขนาดเมล็ดแตกต่างกัน

            คุณภาพและความสามารถในการเก็บรักษาของเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง สจ.5  ที่ผ่านการลำเลียงด้วยสายพานลำเลียงแบบกระพ้อ  (bucket elevator)  ที่ระดับความชื้น  8,  10, 12  และ 14 เปอร์เซ็นต์  โดยตกกระทบบนกองเมล็ดและบนโลหะ  พบว่าการลำเลียงเมล็ดถั่วเหลืองด้วยสายพานลำเลียงแบบกระพ้อมีผลทำให้เปอร์เซ็นต์ความงอก  ความแข็งแรงของเมล็ดโดยการเร่งอายุ  และความมีชีวิตของเมล็ดลดลง  และมีเปอร์เซ็นต์เมล็ดเสียหายเพิ่มขึ้น  โดยที่ระดับความชื้นของเมล็ด  8 เปอร์เซ็นต์  มีผลทำให้เมล็ดได้รับความเสียหายสูงสุด  เมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการลำเลียงที่ระดับความชื้นของเมล็ด 14 เปอร์เซ็นต์  แล้วตากให้ความชื้นลดลงเหลือ  9.5 เปอร์เซ็นต์ พบว่าเมล็ดมีความสามารถในการเก็บรักษาต่ำสุด  การลำเลียงที่ระดับความชื้น 10-12 เปอร์เซ็นต์  เมล็ดมีคุณภาพและความสามารถในการเก็บรักษาที่ดีที่สุด  อัตราปลูกที่แตกต่างกันแม้ว่าจะไม่ทำให้ความงอกแตกต่างกันในระหว่างการเก็บรักษา  แต่มีแนวโน้มที่จะทำให้ความแข็งแรงลดลงเร็วขึ้น  หากปลูกถั่วเหลืองโดยใช้อัตราความหนาแน่นสูง  ส่วนพื้นผิวการตกกระทบของเมล็ดที่แตกต่างกันนั้น  พบว่าให้ผลด้านคุณภาพและความสามารถในการเก็บรักษาไม่แตกต่างกัน  สำหรับความทนทานต่อการตกกระทบของเมล็ดพบว่าเมล็ดที่ได้จากการปลูกถั่วเหลืองด้วยความหนาแน่นต่ำมีความทนทานต่อการตกกระทบสูงกว่าเมล็ดที่ได้จากความหนาแน่นสูง