บทคัดย่องานวิจัย

การควบคุมโรคหลังการเก็บเกี่ยวของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ ด้วยกรดอะซิติก

เนตรนภิส เขียวขำ

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. 2541. 90 หน้า.

2541

บทคัดย่อ

การควบคุมโรคหลังการเก็บเกี่ยวของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ ด้วยกรดอะซิติก

                การศึกษาผลของกรดอะซิติกต่อการควบคุมโรคหลังการเก็บเกี่ยวของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ที่เกิดจากเชื้อรา  Colletotrichum gloeosporioides  และ  Lasiodiplodia theobromae  พบว่า เมื่อผสมกรดอะซิติกลงในอาหารเลี้ยงเชื้อ  potato dextrose agar  (PDA)  ที่ความเข้มข้นร้อยละ 0.2  และ 0.25  (ปริมาตร/ปริมาตร)  สามารถยับยั้งการเจริญของเส้นใยเชื้อรา  C. gloeosporioides  และ L.theobromae  ตามลำดับ  การงอกของสปอร์เชื้อราลดลงเมื่อใช้กรดอะซิติกที่ความเข้มข้นร้อยละ  0.08  และ 0.1  โดยกรดอะซิติกมีผลในการยับยั้งการงอกของสปอร์ได้ดีกว่าการเจริญของเส้นใย

                การจุ่มผลมะม่วงที่ได้รับการปลูกเชื้อรา   C. gloeosporioides  ในสารละลายกรดอะซิติกความเข้มข้นร้อยละ 0.2  และ  2  ไม่สามารถลดความรุนแรงของโรคได้  แต่การรมด้วยไอกรดอะซิติกความเข้มข้นร้อยละ 100  เป็นเวลา  60  และ  120 นาที  ในระบบปิด  สามารถลดความรุนแรงของโรคเหลือร้อยละ  7.3  และ  1.8  ตามลำดับ  แต่บริเวณผิวของผลมะม่วงจะเกิดความเสียหายเนื่องจากกรด  การรมผลมะม่วงด้วยไอกรดอะซิติกความเข้มข้นร้อยละ  0.1,  1,  10  และ  20  เป็นเวลา  30  และ  60 นาที  โดยควบคุมอัตราการไหล 120 มิลลิลิตรต่อนาที  พบว่าที่ควมมเข้มข้นร้อยละ 10 และ 20 และรมเป็นเวลา 30 นาที  สามารถลดความรุนแรงของโรคบนผลมะม่วงที่ปลูกเชื้อโดยทำแผลเป็นร้อยละ 50.6  และ 49.5  และลดความรุนแรงของโรคบนผลมะม่วงที่ปลูกเชื้อโดยไม่ทำแผลเป็นร้อยละ 49.6  และ 32.2  เมื่อรมเป็นเวลา  60 นาที ตามลำดับ  นอกจากนี้เมื่อนำวิธีการนี้มาทดสอบกับเชื้อรา  L. theobromae  สามารถลดความรุนแรงของโรคบนผลมะม่วงที่ปลูกเชื้อโดยทำแผลได้ดีแต่ไม่สามารถควบคุมความรุนแรงบนผลมะม่วงที่ปลูกเชื้อบนขั้วผล  โดยพบว่าเมื่อรมผลมะม่วงที่ปลูกเชื้อโดยทำแผลด้วยไอกรดอะซิติกความเข้มข้นร้อยละ 20  เป็นเวลา  60  นาที  สามารถลดความรุนแรงของโรคเป็นร้อยละ  4.7  การสูญเสียน้ำหนัก  ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้  (total soluble solid)  ปริมาณกรด  ค่าความเป็นกรด-ด่าง  สีเปลือกและสีเนื้อ  และการยอมรับของผู้บริโภค  ไม่มีความแตกต่างทางสถิติ  และปริมาณกรดอะซิติกที่ตกค้างบนผิวมะม่วงที่รมด้วย ไอกรดอะซิติกร้อยละ  10  และ  20  พบว่ามีปริมาณ  86.1  และ  233.3  ppb   ต่อผล