บทคัดย่องานวิจัย

ผลของคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีต่อการเก็บรักษาผลเงาะที่อุณหภูมิต่ำ

วาริช ศรีละออง ศิริชัย กัลยาณรัตน์ และ ฐิฏิมา ช้างทอง

รายงานผลการวิจัย, ภาควิชาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะทรัพยากรชีวภาพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, 2543. 121 หน้า.

2543

บทคัดย่อ

ผลของคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีต่อการเก็บรักษาผลเงาะที่อุณหภูมิต่ำ

                การเก็บรักษาผลเงาะพันธุ์โรงเรียนภายใต้สภาพที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ร้อยละ 5   10  และ  20  ที่อุณหภูมิ  20  องศาเซลเซียส  และการเก็บรักษาผลเงาะที่ผ่านการได้รับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ความเข้มข้นร้อยละ  5   10  และ  20  เป็นเวลา  6   12   และ  24  ชั่วโมง  เมื่อครบกำหนดเวลานำมาเก็บรักษาที่อุณหภูมิ  13 องศาเซลเซียส  พบว่า ผลเงาะที่เก็บรักษาในสภาพที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ร้อยละ  20  ที่อุณหภูมิ  13  องศาเซลเซียสจะเกิดอาการ  carbon  dioxide  injury  โดยเริ่มเกิดอาการในวันที่  15  ของการเก็บรักษา  ส่วนผลเงาะที่เก็บรักษาในสภาพที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ร้อยละ  10  ที่อุณหภูมิ  13  องศาเซลเซียส  สามารถชะลอการเปลี่ยนแปลงคุณภาพและมีลักษณะปรากฏภายนอกดีที่สุด  มีอายุการเก็บรักษาประมาณ  12  วัน  สำหรับผลเงาะที่ผ่านการได้รับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ความเข้มข้นร้อยละ  5  เป็นเวลา  6  และ  12  ชั่วโมง  จะมีอายุการเก็บรักษาประมาณ  6  วัน  และผลเงาะที่ผ่านการได้รับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ความเข้มข้นร้อยละ  5  เป็นเวลา  24  ชั่วโมงและผลเงาะที่ผ่านการได้รับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ความเข้มข้นร้อยละ 10  และ  20  เป็นเวลา  6,  12  และ  24  ชั่วโมง  จะมีอายุการเก็บรักษาประมาณ  9  วัน  เนื่องจากเปลือกและขนของผลเงาะมีสีน้ำตาลดำจากการสูญเสียน้ำ  สำหรับผลเงาะที่เก็บรักษาภายใต้สภาพก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ร้อยละ 10   ที่อุณหภูมิ 5  และ  8  องศาเซลเซียส  จะเกิดอาการ  Chilling  injury  ซึ่งเป็นสาเหตุให้หมดอายุการเก็บรักษาในวันที่  5  และ  9  ของการเก็บรักษาตามลำดับซึ่งเป็นสาเหตุให้หมดอายุการเก็บรักษา  สำหรับผลเงาะที่เก็บรักษาในสภาพที่มีออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ที่ความเข้มข้นต่าง ๆ  พบว่าผลเงาะที่เก็บโดยใช้ก๊าซออกซิเจนร้อยละ 10  และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ร้อยละ 5  มีลักษณะ  ปรากฏของผลเงาะดีกว่าการใช้ก๊าซออกซิเจนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ความเข้มข้นอื่น ๆ  และมีอายุการเก็บรักษา  15  วัน  และพบว่าผลเงาะมีการเสื่อมสภาพเนื่องจากการเกิดโรคเข้าทำลายบ้างเล็กน้อย             และการสูญเสียน้ำเป็นสาเหตุหลักของการเกิดสีน้ำตาลในเปลือกเงาะที่เก็บในสภาพที่มีก๊าซออกซิเจนร้อยละ 10  และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ร้อยละ 5  สามารถชะลอการสูญเสียน้ำได้โดยมีอายุการเก็บรักษานานที่สุด  15  วัน