บทคัดย่องานวิจัย

การคัดเลือกสารสกัดจากพืชบางชนิดที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคขั้วผลเน่าและแอนแทรคโนสของมะม่วง

วรางคณา คทาวัชรกุล ผ่องเพ็ญ จิตอารีย์รัตน์ รุ่งนภา ก่อประดิษฐ์สกุล และ เฉลิมชัย วงษ์อารี

บทคัดย่องานวิจัยประจำปี 2548, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, กรุงเทพฯ. หน้า 181-182 (361 หน้า)

2543

บทคัดย่อ

การคัดเลือกสารสกัดจากพืชบางชนิดที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคขั้วผลเน่าและแอนแทรคโนสของมะม่วง

                การทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดจากพืชในการยับยั้งการเจริญจองเส้นใย   และการงอกของสปอร์เชื้อรา  Lasiodiplodia  theobromae  และ  Colletotrichum gloeosporiodes  สาเหตุโรคขั้วผลเน่าและโรคแอนแทรคโนสในมะม่วง  พบว่าสารสกัดที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์จากส่วนของใบดาวเรือง  (ดาวเรือง  L-P)  ที่ความเข้มข้น  5,000  และ 10,000  ppm  ยับยั้งการเจริญของเส้นใยของเชื้อรา  Lasiodiplodia  theobromae ได้ดีที่สุด  โดยสามารถยับยั้งการเจริญของเส้นใยเชื้อราได้  99.6  และ  100  เปอร์เซ็นต์  ตามลำดับ  และมีค่า  ED50 ต่ำที่สุดคือ  100 ppm  ส่วนสารที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์จากส่วนของดอกดาวเรือง  (ดาวเรือง  FL-P)  ที่ความเข้มข้น 10,000 ppm  สามารถยับยั้งการเจริญของเส้นใยของเชื้อรา  Colletotrichum  gloeosporiodes  ได้ถึง  100  เปอร์เซ็นต์   แต่เมื่อพิจารณาถึงค่า ED50  พบว่าสารที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์จากส่วนของใบดาวเรืองมีค่า   ED50 ต่ำที่สุดคือ  500 ppm  จากการทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดจากพืชต่อการยับยั้งการงอกของสปอร์เชื้อรา  Colletotrichum   gloeosporiodes  พบว่าสารสกัดจากพืชที่ใช้ในการทดสอบทุกชนิด  ได้แก่  สารสกัดที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์จากส่วนดอกดาวเรือง  ใบดาวเรือง  และดอกมะละกอ  (มะละกอ  FL-P)     และสารสกัดด้วยเมทาลีน  คลอไรด์จากส่วนของดอกดาวเรือง  (ดาวเรือง  FL-NP)  และดอกมะละกอ    (มะละกอ  FL-NP)  ที่ความเข้มข้น  5,000  และ 10,000  ppm  มีประสิทธิภาพดีในการยับยั้งการงอกของสปอร์  โดยสารสกัดจากใบดาวเรืองที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์  และสารที่สกัดด้วยเมทาลีนคลอไรด์จากส่วนของดอกดาวเรืองมีค่า ED50 250  และ 2,500  ppm  ตามลำดับ  ส่วนสารสกัดที่มีประสิทธิภาพดีในการยับยั้งการงอกของสปอร์  Lasiodiplodia  theobromae  คือสารที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์จากส่วนของใบดาวเรือง  และสารที่สกัดด้วยเมทาลีนคลอไรด์จากสวนของดอกดาวเรืองมีค่าการยับยั้งคือ  94  และ  91  เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ  การทดสอบประสิทธิภาพสารจากใบดาวเรืองในส่วนที่ละลายน้ำและละลายในแอลกอฮอล์พบว่า  สารจากส่วนของแอลกอฮอล์มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญของเส้นใยเชื้อราทั้ง  2  ชนิดได้ดีกว่าสารจากใบดาวเรืองในส่วนของน้ำ