บทคัดย่องานวิจัย

อิทธิพลของวิธีการนวดเมล็ดและภาชนะในการเก็บรักษาที่มีผลต่อคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ การเจริญเติบโตและผลผลิตของถั่วเหลืองพันธุ์ สจ.4 และสข.1

สุนิรัตน์ ไชยสนสวัสดิ์

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพืชศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 2532. 86 หน้า.

2532

บทคัดย่อ

อิทธิพลของวิธีการนวดเมล็ดและภาชนะในการเก็บรักษาที่มีผลต่อคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ การเจริญเติบโตและผลผลิตของถั่วเหลืองพันธุ์ สจ.4 และสข.1
งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาอิทธิพลของวิธีการนวดและภาชนะในการเก็บรักษาที่มีผลต่อคุณภาพเมล็ด การเจริญเติบโตและผลผลิตของถั่วเหลืองพันธุ์ สจ.4 และ สข.1 ทั้งในสภาพห้องปฏิบัติการและในสภาพแปลงปลูก
การทดลองในห้องปฏิบัติการได้ศึกษาคุณภาพหลาย ๆ ด้านของเมล็ด เช่น ความชื้น ความงอกและอัตราการเจริญเติบโตของต้นอ่อนตลอดจนการนำไฟฟ้าของเมล็ด พบว่าหลังจากการเก็บรักษาเมล็ดไว้ 8 เดือนความชื้นของเมล็ดและค่าการนำไฟฟ้าของถั่วเหลือง สจ. 4 เพิ่มขึ้นมากกว่าพันธุ์ สข.1 สำหรับอิทธิพลของวิธีการนวดและภาชนะในการเก็บรักษานั้นแสดงให้เห็นว่าเมล็ดที่นวดด้วยเครื่องและเมล็ดที่เก็บรักษาในถุงผ้ามีความชื้นของเมล็ดและค่าการนำไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากกว่าเมล็ดที่นวดด้วยมือและเมล็ดที่เก็บรักษาในถุงพลาสติกที่บรรจุในภาชนะปิดสนิท ส่วนการตรวจสอบความงอกของเมล็ดและอัตราการเจริญเติบโตของต้นอ่อนของถั่วเหลืองพันธุ์ สจ.4 นั้นพบว่าลดลงเร็วกว่าพันธุ์ สข.1 นอกจากนี้ยังพบว่าเมล็ดที่นวดด้วยเครื่องและเมล็ดที่เก็บรักษาในถุงผ้าทำให้ลักษณะต่างๆ เหล่านี้ลดลงเร็วกว่าเมล็ดที่นวดด้วยมือและเมล็ดที่เก็บในถุงพลาสติกที่บรรจุในภาชนะปิดสนิท
การทดลองในสภาพแปลงปลูกพบว่าถั่วเหลืองพันธุ์ สข.1 มีความงอกในไร่สูงกว่าพันธุ์ สจ. 4 โดยเฉพาะที่ 7 และ 14 วันหลังปลูก และภาชนะที่เก็บรักษาเมล็ดมีผลต่อความงอกในไร่ทั้ง 2 ระยะ โดยเมล็ดที่เก็บรักษาในถุงพลาสติกที่บรรจุในภาชนะปิดสนิทเมื่อนำไปปลูกจะให้ความงอกในไร่สูงกว่าเมล็ดที่เก็บรักษาในถุงผ้า แต่วิธีการนวดเมล็ดไม่มีผลต่อความงอกในไร่ทั้ง 2 ระยะ
จากการศึกษาถึงอัตราการเจริญเติบโตของถั่วเหลืองโดยวัดความสูงของลำต้นพบว่า ต้นถั่วเหลืองพันธุ์ สข.1 สูงกว่าพันธุ์ สจ.4 โดยเฉพาะอายุ 60 วัน ซึ่งสูงเท่ากับ 63.5 และ 48.7 เซนติเมตรตามลำดับ การนวดเมล็ดด้วยมือให้ต้นถั่วเหลืองที่สูงมากกว่าเมล็ดที่นวดด้วยเครื่อง ซึ่งจะเห็นได้ชัดที่อายุ 60 วัน คือ 58.6 และ 53.6 เซนติเมตรตามลำดับ ภาชนะในการเก็บรักษาก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อความสูงของถั่วเหลือง โดยเฉพาะที่อายุเก็บเกี่ยวจะเห็นได้ว่าการเก็บรักษาเมล็ดในถุงพลาสติกที่บรรจุในภาชนะปิดสนิทให้ต้นถั่วเหลืองที่มีความสูงมากกว่าในถุงผ้าเท่ากับ 60.9 และ 53.0 เซนติเมตร ตามลำดับ
สำหรับจำนวนข้อนั้นปรากฏว่า ต้นถั่วเหลืองพันธุ์ สข. ที่อายุ 30, 45, 60 วัน และขณะเก็บเกี่ยวมีจำนวนข้อมากกว่าพันธุ์ สจ.4 แตกต่างกันทางสถิติ และจากการวัดจำนวนข้อต่อต้นนั้นวิธีการนวดเมล็ดไม่มีผลต่อจำนวนข้อของถั่วเหลือง สำหรับภาชนะที่เก็บรักษาเมล็ดจะเห็นได้ว่าเมล็ดที่เก็บในถุงพลาสติกที่บรรจุในภาชนะปิดสนิทให้ต้นถั่วเหลืองที่มีจำนวนข้อต่อต้นมากกว่าเมล็ดที่เก็บในถุงผ้าโดยเฉพาะที่อายุเก็บเกี่ยวเท่ากับ 15.2 และ 14.4 ข้อ ตามลำดับส่วนจำนวนกิ่งของถั่วเหลืองนั้นจะเห็นได้ว่าถั่วเหลืองพันธุ์ สข.1 มีจำนวนกิ่งต่อต้นมากกว่าพันธุ์ สจ.4 ซึ่งเท่ากับ 3.27 และ 2.91 กิ่งตามลำดับ (ที่อายุเก็บเกี่ยว) ส่วนวิธีการนวดและภาชนะที่เก็บรักษาที่ต่างกันนั้นไม่มีผลต่อจำนวนกิ่งของถั่วเหลือง
ลักษณะการเจริญเติบโตอื่นๆ ได้แก่ น้ำหนักแห้งทั้งต้นและดัชนีพื้นที่ใบสำหรับน้ำหนักแห้งทั้งต้นของถั่วเหลือง พบว่า การใช้พันธุ์ และวิธีการนวดที่ต่างกันไม่มีผลต่อน้ำหนักแห้งทั้งต้นที่ทุกระยะ แต่พบว่าภาชนะที่เก็บรักษาที่ต่างกันมีผลต่อน้ำหนักแห้งทั้งต้นโดยจะเห็นได้ชัดว่าเมล็ดที่เก็บรักษาในถุงพลาสติกที่บรรจุในภาชนะที่ปิดสนิทให้ต้นถั่วเหลืองที่มีน้ำหนักแห้งทั้งต้นเท่ากับ 25.74 ซึ่งสูงกว่าเมล็ดที่เก็บในถุงผ้า (22.11 กรัม) ที่อายุ 60 วันและค่าดัชนีพื้นที่ใบของถั่วเหลืองที่อายุ 45 วัน ขึ้นอยู่กับวิธีการนวดซึ่งการนวดเมล็ดด้วยมือให้ต้นถั่วเหลืองที่มีดัชนีพื้นที่ใบเท่ากับ 2.38 มากกว่าการนวดเมล็ดด้วยเครื่องเท่ากับ 2.10 ส่วนการใช้พันธุ์และภาชนะในการเก็บรักษาไม่ได้ทำให้ค่าดัชนีพื้นที่ใบแตกต่างกันทางสถิติในทุกระยะ
นอกจากนั้นพบว่าอิทธิพลของวิธีการนวดและภาชนะในการเก็บรักษาไม่มีผลต่อดัชนีเก็บเกี่ยวของถั่วเหลืองพันธุ์ สจ.4 และ สข.1
สำหรับอิทธิพลของวิธีการนวดและภาชนะที่เก็บรักษานั้นไม่มีผลต่อองค์ประกอบผลผลิต ผลผลิตต่อต้นและผลผลิตต่อพื้นที่ แต่พบว่าอิทธิพลของพันธุ์ทำให้องค์ประกอบผลผลิตบางตัวซึ่งได้แก่จำนวนต้นต่อพื้นที่ จำนวนฝักต่อต้นและจำนวนฝักดีต่อจำนวนฝักทั้งหมดแตกต่างในทางสถิติ โดยที่ถั่วเหลืองพันธุ์ สข.1 มีจำนวนต้นต่อพื้นที่ เท่ากับ 107 ต้น มากกว่าพันธุ์ สจ.4 (95 ต้น) สำหรับจำนวนฝักต่อต้นนั้นถั่วเหลืองพันธุ์ สจ.4 มีมากว่าพันธุ์ สข. 1 เท่ากับ 90.9 และ 74.4 ฝัก ตามลำดับ และพบว่าถั่วเหลืองพันธุ์ สข. 1 มีจำนวนฝักดีต่อจำนวนฝักทั้งหมดเท่ากับ .77 มากกว่าพันธุ์ สจ.4 (.62) ส่วนจำนวนเมล็ดต่อฝัก น้ำหนัก 100 เมล็ดและผลผลิตต่อต้นตลอดจนผลผลิตต่อพื้นที่ของถั่วเหลือง 2 พันธุ์มีค่าไม่แตกต่างกัน