บทคัดย่องานวิจัย

การศึกษาปรับปรุงเครื่องกะเทาะเมล็ดมะม่วงหิมพานต์แบบกึ่งอัตโนมัติ

สุชาติ แง้เจริญกุล

วิทยานิพนธ์ (วศ.ม.) สาขาวิชาเครื่องจักรกลเกษตร บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2536. 74 หน้า.

2536

บทคัดย่อ

การศึกษาปรับปรุงเครื่องกะเทาะเมล็ดมะม่วงหิมพานต์แบบกึ่งอัตโนมัติ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาปรับปรุงเครื่องกะเทาะเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ แบบกึ่งอัตโนมัติ และทดสอบเปรียบเทียบกับเครื่องกะเทาะเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ แบบกึ่งอัตโนมัติ วศก. (มข.) ก1 โดยใช้ค่าชี้ผลการทำงาน คือ อัตราการป้อนเมล็ด ประสิทธิภาพการป้อนเมล็ดประสิทธิภาพการกะเทาะ เปอร์เซ็นต์เมล็ดเต็มประกอบซีกที่กะเทาะ ได้ อัตราการแยกเมล็ดเนื้อในออกจากเปลือก ซึ่งให้ผลการศึกษาที่สำคัญสรุปได้ดังต่อไปนี้
ผลการศึกษาปรับปรุงกลไกต่าง ๆ ของเครื่องกะเทาะเมล็ดมะม่วงหิมพานต์แบบกึ่งอัตโนมัติ

1) ออกแบบปรับปรุงกลไกขับเคลื่อนหลัก ให้เป็นกลไกขับเคลื่อนจานลำเลียงเมล็ด ที่มีช่วงเวลาหยุดนิ่ง สำหรับการป้อนเมล็ดมากขึ้นกว่าเดิม 17.5% ที่ทุกระดับอัตราการลำเลียงเมล็ดโดยกลไก มีความแม่นยำในการขับเคลื่อนมากขึ้น และมีจำนวนชิ้นส่วนน้อยลง
2) ออกแบบปรับปรุงอุปกรณ์จับประคองเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ โดยเปลี่ยนแปลงจากกลไก ซึ่งการป้อนเมล็ดกระทำ ในขณะที่อุปกรณ์จับประคองเมล็ดอยู่ในลักษณะแคบสุด ให้เป็นกลไกที่ขับเคลื่อนให้อุปกรณ์จับประคองเมล็ด เปิดกว้างอยู่ สำหรับการป้อนเมล็ดแล้ว จึงเคลื่อนตัวให้แคบเข้าเพื่อจับประคองเมล็ด เป็นการเคลื่อนตัวเข้า-ออกแทนการเคลื่อนตัวแบบบิดตัว ไปด้านข้างเพื่อช่วยขจัดปัญหาระหว่างการป้อน สำหรับเมล็ดที่มีความหนาแตกต่างกัน
3) ออกแบบปรับปรุงชุดมีดบนและล่าง โดยเปลี่ยนแกนเพลาของชุดมีดบนและล่างเป็นเพลาสี่เหลี่ยมแทนเพลากลม ซึ่งเป็นผลทำให้การเคลื่อนที่ขึ้นลงเพื่อผ่าและฉีกเปลือกแม่นยำขึ้นและปรับปรุงกลไกการเคลื่อนที่ให้เป็นกลไกกดชุดมีดบน และยกชุดมีดล่าง ทำให้ลดจำนวนชุดมีดล่างจากจำนวน 3 ชุด เหลือเพียง 1 ชุด
4) ออกแบบปรับปรุงอุปกรณ์การลำเลียงเมล็ดออกจากจานลำเลียงเมล็ดหลังการผ่าและปิดฉีกเปลือก โดยออกแบบให้กลไก และอุปกรณ์บนจานลำเลียงเมล็ด สามารถลำเลียงเมล็ดให้หล่นออกจากจานลำเลียงได้เอง โดยไม่ต้องมีอุปกรณ์กวาดปัดเมล็ดบนจานลำเลียง ซึ่งมีปัญหาความแม่นยำในการทำงาน

จากผลของการปรับปรุงกลไกต่าง ๆ ดังกล่าว และจากการทดสอบเปรียบเทียบระหว่างเครื่องที่ปรับปรุงใหม่และเครื่อง วศก. (มข.) ก1 สามารถสรุปผลการทำงานของเครื่องได้ดังนี้

1) อัตราการป้อนเมล็ดและประสิทธิภาพการป้อนเมล็ด พบว่าอัตราการป้อนเมล็ดของเครื่องปรับปรุงใหม่ สูงกว่า เครื่อง วศก. (มข.) ก1 27 - 34% และประสิทธิภาพการป้อนเมล็ดสูงกว่า 16 - 19% ในช่วงอัตราการลำเลียงเมล็ดของเครื่อง
2) ประสิทธิภาพการกะเทาะ พบว่าเครื่องปรับปรุงใหม่มีประสิทธิภาพการกะเทาะ 96.27% และเครื่อง วศก. (มข.) ก1 เป็น 86.84%
3) คุณภาพเมล็ดที่กะเทาะได้ พบว่าเปอร์เซ็นต์เมล็ดเนื้อในเต็มประกบซีกเฉลี่ยของเครื่องปรับปรุงใหม่เป็น 87.38% และเครื่อง วศก. (มข.) ก1 เป็น 50.20%
4) อัตราการแยกเมล็ดเนื้อในออกจากเปลือก พบว่าอัตราแยกเมล็ดเนื้อในออกจากเปลือกเฉลี่ยของเครื่องปรับปรุงใหม่เป็น 14.03 เมล็ด/นาที และเครื่อง วศก. (มข.) ก1 เป็น 9.51 เมล็ด/นาที