บทคัดย่องานวิจัย

การประเมินผลเครื่องกะเทาะเมล็ดมะคาเดเมียแบบใช้แรงคน

สุเนตร โม่งปราณีต

วิทยานิพนธ์ (วศ.ม.) สาขาวิชาเครื่องจักรกลเกษตร บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2536. 124 หน้า

2536

บทคัดย่อ

การประเมินผลเครื่องกะเทาะเมล็ดมะคาเดเมียแบบใช้แรงคน
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อทดสอบและประเมินผลเครื่องกะเทาะเมล็ดมะคาเดเมียแบบใช้แรงคน โดยเน้นการเปรียบเทียบสมรรถนะการทำงานและคุณภาพเนื้อในภายหลังการกะเทาะ ซึ่งแนวทางการวิจัยครั้งนี้ประกอบด้วย การศึกษาคุณสมบัติทางกายภาพที่เกี่ยวข้องกับการกะเทาะของเมล็ดมะคาเดเมีย การทดสอบเปรียบเทียบเครื่องกะเทาะเมล็ดมะคาเดเมีย แบบใช้แรงคนที่มีในประเทศไทย การปรับปรุงเครื่องกะเทาะแบบเกลียวอัด และการประเมินผลเชิงเศรษฐศาสตร์ เมล็ดมะคาเดเมียที่ใช้ในการทดสอบเป็นเมล็ดพันธุ์คละที่ผลิตได้ในประเทศไทย
เครื่องกะเทาะแบบใช้แรงคนที่นำมาเปรียบเทียบมี 5 แบบ คือ แบบคีมล็อค แบบร่องฟัน ก้างปลากดอัด แบบใบมีดกดอัด แบบเฟืองสะพาน และแบบเกลียวอัด โดยใช้อัตราการกะเทาะปริมาณเนื้อในเต็มเมล็ด ปริมาณเนื้อในแตกครึ่ง และปริมาณเนื้อในแตกหลายชิ้น เป็นค่าชี้ผลในการทดสอบ ซึ่งสามารถสรุปผลการวิจัยได้ดังนี้
1.การกะเทาะเมล็ดมะคาเดเมียเพื่อให้ได้อัตราการกะเทาะสูงและปริมาณเนื้อในเต็มเมล็ดมาก ควรทำให้เนื้อในล่อน ก่อนการกะเทาะ
2.ในการกะเทาะ ควรกะเทาะในตำแห่งตามแนวขั้วเมล็ด โดยวางแนวคมใบมีดตามรอยตะเข็บเมล็ด ซึ่งเมื่อกดกะเทาะกะลาจะแตกออกจากกันตามรอยตะเข็บ อันจะส่งผลให้ได้เนื้อในเต็มเมล็ดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูง โดยธรรมชาติเมล็ดดิบทั้งกะลาจะมีปริมาณเมล็ดซึ่งตะเข็บมีรอยแยกประมาณ 30% และจะเพิ่มขึ้นประมาณ 11% ภายหลังจากเมล็ดถูกลดความชื้น การกะเทาะเมล็ดซึ่งตะเข็บมีรอยแยกจะใช้แรงในการกะเทาะน้อย มีอัตราการกะเทาะสูง และปริมาณเนื้อในเต็มเมล็ดมากกว่า โดยที่มีปริมาณเนื้อในแตกครึ่งน้อยกว่า เมื่อเทียบกับการกะเทาะเมล็ดซึ่งตะเข็บไม่มีรอยแยก ส่วนปริมาณเนื้อในแตกหลายชิ้นไม่แตกต่างกันทางสถิติ 3.ผลการกะเทาะเมื่อใช้ใบมีดที่คมมาก (มุมของคม 40 องศา) จะให้สมรรถนะในการทำงาน และคุณภาพในภายหลังการกะเทาะดีกว่าการใช้ใบมีดที่คมน้อย (มุมของคม 74 องศา) เนื่องจากใบมีดที่คมมากใช้แรง ในการกะเทาะน้อย แต่ต้องกะเทาะเมล็ดซ้ำหลายครั้งเพื่อทำให้กะลาแตกออกจากกัน ส่วนการใช้ใบมีดที่คมน้อยสามารถทำให้กะลาแตกออกได้ ในการทำงานเพียงครั้งเดียว แต่ต้องใช้แรงในการกะเทาะมาก และภายหลังจากกะลาแตกใบมีดจะเลื่อนลงลึกถูกเนื้อใน ทำให้เนื้อในแตกหักเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูง 4.เครื่องกะเทาะแบบเกลียวอัดเมื่อใช้ใบมีดที่มีมุมของคม 40 องศา และเครื่องกะเทาะแบบคีมล็อค ซึ่งเป็นเครื่องกะเทาะที่มีแนวโน้มเหมาะสมมากที่สุด สมรรถนะทางเทคนิคของเครื่องทั้งสองเมื่อใช้กับเมล็ดชนิดผิวเรียบซึ่ง นิยมปลูกมากที่สุดและมีขนาดคละ มีดังต่อไปนี้
แบบเกลียวอัด แบบคีมล็อค
- อัตราการกะเทาะ (เมล็ด/ชั่วโมง) แบบเกลียวอัด 130.16 แบบคีมล็อค 151.99
- ปริมาณเนื้อในเต็มเมล็ด (%) แบบเกลียวอัด 41.00 แบบคีมล็อค 44.00
- ปริมาณเนื้อในแตกครึ่ง (%) แบบเกลียวอัด 51.00 แบบคีมล็อค 46.00
- ปริมาณเนื้อในแตกหลายชิ้น (%) แบบเกลียวอัด 7.50 แบบคีมล็อค 9.80
5. จากราคาเมล็ดดิบทั้งกะลาที่คาดว่าจะจำหน่ายในประเทศไทยประมาณ 50 บาทต่อกิโลกรัม และราคาเนื้อใน เต็มเมล็ด 400 บาทต่อกิโลกรัม หากไม่คิดค่าใช้จ่ายในการเตรียมเมล็ดและค่าใช้จ่ายปลีกย่อยอื่น ๆ เครื่องกะเทาะแบบเกลียวอัดแบะ แบบคีมล็อค มีจุดคุ้มทุนในการกะเทาะต่ำกว่า 7.7 กิโลกรัมต่อปี มีระยะคืนทุนภายใน 3.5 เดือน เมื่อมีปริมาณเมล็ดดิบที่กะเทาะ 100 กิโลกรัมต่อปี และมีรายได้สุทธิมากกว่า 23,000 บาทต่อปี เมื่อทำงานปีละ 200 วันๆ ละ 8 ชั่วโมง