บทคัดย่องานวิจัย

การออกแบบและประเมินผลเครื่องขุดมันสำปะหลัง

ศุภวัฒน์ ปากเมย

วิทยานิพนธ์ (วศ.ม.) สาขาวิชาเครื่องจักรกลเกษตร บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2540. 125 หน้า.

2540

บทคัดย่อ

การออกแบบและประเมินผลเครื่องขุดมันสำปะหลัง
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการออกแบบเครื่องขุดมันสำปะหลังที่ใช้งานกับรถแทรกเตอร์ ซึ่งแนวทางการศึกษาประกอบด้วย การศึกษาองค์ประกอบในการออกแบบ การออกแบบ การสร้าง การทดสอบและประเมินผลเครื่องขุดมันสำปะหลัง เครื่องต้นแบบที่ออกแบบและสร้างขึ้นมีส่วนประกอบที่สำคัญซึ่งประกอบด้วย หัวขุดมันสำปะหลังรูปสามเหลี่ยมมีหน้ากว้างในการทำงาน 100 เซนติเมตร โครงเครื่องมีหน้ากว้าง 200 เซนติเมตร มีชุดอุปกรณ์ลำเลียงขึ้นและอุปกรณ์ลำเลียงออก โดยใช้โซ่ชุดลำเลียงเป็นโซ่ขับอุปกรณ์ลำเลียง การขับชุดอุปกรณ์ลำเลียงใช้เครื่องยนต์เล็กขนาด 7.46 กิโลวัตต์เป็นเครื่องต้นกำลัง
การประเมินผลเครื่องขุดมันสำปะหลังมีปัจจัยในการศึกษาคือ
- ความเร็วเชิงเส้นอุปกรณ์ลำเลียงขึ้น จำนวน 4 ระดับคือ 35, 39, 42 และ 46 เมตร/นาที
- ความเร็วในการเคลื่อนที่ของรถแทรคเตอร์ 4 ระดับคือ 26, 28, 30 และ 32 เมตร/นาที
ค่าชี้สมรรถนะในการทดสอบเครื่องขุดมันสำปะหลังได้แก่ อัตราการทำงานเชิงพื้นที่ เปอร์เซ็นต์การขุดมันสำปะหลังได้ เปอร์เซ็นต์การขาดของหัวมันสำปะหลัง เปอร์เซ็นต์การหลงเหลือของหัวมันสำปะหลัง จากผลการทดสอบพบว่าเครื่องขุดมันสำปะหลังมีความเหมาะสมในการทำงานเมื่อใช้ความเร็วการเคลื่อนที่ 28 เมตร/นาที ความเร็วเชิงเส้นอุปกรณ์ลำเลียง 42 เมตร/นาที ซึ่งผลที่ได้จากการทดสอบเครื่องขุดมันสำปะหลังมีสมรรถนะดังนี้
อัตราการทำงานเชิงพื้นที่ 0.74 ไร่/ชั่วโมง
เปอร์เซ็นต์ของหัวมันสำปะหลังที่ขุดได้ 92.51
เปอร์เซ็นต์ของหัวมันสำปะหลังขาดที่ขุดได้ 3.86
เปอร์เซ็นต์ของหัวมันสำปะหลังที่หลงเหลือในดิน 3.63
แม้นว่าเครื่องขุดมันสำปะหลังให้ค่าความสามารถในการขุด (0.74 ไร่ต่อชั่วโมง) มากกว่าคนขุด (0.035 ไร่ต่อชั่วโมง) แต่การใช้เครื่องขุดมันสำปะหลังยังคงใช้แรงงานคนเป็นจำนวนมาก เพื่อเตรียมพื้นที่ในการตัดต้นมันสำปะหลัง, ตัดหัวมันสำปะหลังออกจากเหง้า และการขนหัวมันสำปะหลังขึ้นรถบรรทุก ดังนั้นเครื่องขุดมันสำปะหลังนี้ยังไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้งาน ควรมีการพัฒนาเครื่องขุดมันสำปะหลังนี้จึงจะสามารถทดแทนแรงงานคนได้