บทคัดย่องานวิจัย

อิทธิพลของความชื้นเมล็ดเริ่มต้น วิธีการเก็บรักษาและขนาดเมล็ดต่อคุณภาพการเก็บรักษาของเมล็ดถั่วลิสง

สรรเสริญ เสียงใส

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพืชศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2543. 70 หน้า.

2543

บทคัดย่อ

ทธิพลของความชื้นเมล็ดเริ่มต้น วิธีการเก็บรักษาและขนาดเมล็ด ต่อคุณภาพการเก็บรักษาของเมล็ดถั่วลิสง
การทดลองนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาอิทธิพลของความชื้นเมล็ดเริ่มต้น วิธีการเก็บรักษาและขนาดของเมล็ดต่อคุณภาพการเก็บรักษาของเมล็ด โดยลดความชื้นถั่วลิสงทั้งฝักลงให้เหลือประมาณ 8 และ 12 เปอร์เซ็นต์ แล้วแบ่งถั่วลิสงฝักแห้งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกบรรจุในกระสอบปุ๋ยและกระสอบป่าน กระสอบละ 10 กิโลกรัม ส่วนที่สองกะเทาะเปลือกและคัดแยกขนาดเมล็ด นำถั่วเกรด 2 และ 3 มาบรรจุฝนถุงอะลูมิเนียมฟอยล์ ถุงพลาสติกและกระสอบปุ๋ย น้ำหนักถุงละ 5 กิโลกรัม สุ่มตรวจคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ทุกๆ เดือนติดต่อกัน เก็บรักษาไว้เป็นเวลานาน 5 เดือน ใช้แผนการทดลอง 2x5x2 Factorial in completely randomized มี 3 ซ้ำ ตรวจสอบความชื้นเมล็ดด้วยวิธีมาตรฐาน การปนเปื้อนของสารอะฟลาทอกซินโดยวิธี Enzyme – Linked Immunosorbent Assay (ELISA) ตรวจสอบความงอกโดยใช้ทรายเป็นวัสดุเพาะ
ผลการศึกษาพบว่า ถั่วลิสงที่มีความชื้นเริ่มต้น 12 เปอร์เซ็นต์ มีความชื้นของเมล็ดขณะเก็บรักษาสูงกว่าเมล็ดที่มีความชื้นเริ่มต้น 8 เปอร์เซ็นต์ ตลอดช่วงระยะเวลาที่เก็บรักษา การบรรจุเมล็ดถั่วลิสงในถุงอะลูมิเนียมฟอยล์ สามารถควบคุมการเปลี่ยนแปลงของความชื้นได้ดีที่สุด ตลอดอายุการเก็บรักษา โดยเมล็ดที่ความชื้นเริ่มต้น 8 และ 12 เปอร์เซ็นต์ มีความชื้นเมล็ดเปลี่ยนแปลงขณะเก็บรักษาอยู่ระหว่าง 7.62 – 8.12 และ 11.07 – 12.08 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ โดยที่เมล็ดเกรด 3 มีความชื้นเมล็ดขณะเก็บรักษาสูงกว่าเกรด 2 และพบว่าความชื้นเมล็ดในแต่ละเดือนของการเก็บรักษา มีปฏิกิริยาสัมพันธ์กันระหว่างระดับความชื่นเริ่มต้นกับวิธีการเก็บรักษา
หลังจากเก็บรักษานาน 5 เดือน เมล็ดที่ได้จากการเก็บรักษาวิธีที่ต่างกันมีการปนเปื้อนสารอะ ฟลาทอกซินแตกต่างกัน เรียงลำดับจากน้อยไปหามากได้ดังนี้ บรรจุเมล็ดในถุงอะลูมิเนียมฟอยล์ ถุงพลาสติก บรรจุฝักในกระสอบปุ๋ย กระสอบป่านและบรรจุเมล็ดในกระสอบปุ๋ย เมล็ดที่ความชื้นเริ่มต้น 8 และ 12 เปอร์เซ็นต์ เมื่อบรรจุในถุงอะลูมิเนียมฟอยล์มีการปนเปื้อนต่ำสุด คือ มีปริมาณอะฟลาทอกซิน 9.85 และ 14.94 พีพีบี ตามลำดับ ขณะที่เมล็ดบรรจุในถุงพลาสติกมีการปนเปื้อน 16.53 และ 18.42 พีพีบี ตามลำดับ แต่เมล็ดบรรจุในกระสอบปุ๋ย พบปริมาณอะฟลาทอกซินสูงสุดคือระหว่าง 51.27 – 199.66
พีพีบี ในเดือนที่ 4
ถั่วลิสงสภาพฝักที่ความชื้นเมล็ดเริ่มต้น 8 และ 12 เปอร์เซ็นต์ บรรจุในกระสอบปุ๋ยและกระสอบป่านและเมล็ดเกรด 3 เมื่อเก็บรักษานาน 5 เดือน มีความงอก 56.33 –62.33 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงสุดเมื่อเทียบกับกรรมวิธีอื่นๆ ขณะที่เมล็ดมีความชื้นเริ่มต้นทั้ง 2 ระดับ และขนาดเมล็ดทั้ง 2 เกรด บรรจุในถุงอะลูมิเนียมฟอยล์ มีความงอกลดลงต่ำสุด โดยเหลือความงอกอยู่ระหว่าง 18.33 – 24.50 เปอร์เซ็นต์
จากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความชื้นเมล็ดกับปริมาณสารอะฟลาทอกซิน และความงอกของเมล็ดถั่วลิสงที่มีความชื้นเริ่มต้นต่างกัน พบว่าความชื้นของเมล็ดมีค่าสัมพันธ์กับความงอกเป็น 0.86 และ 0.98 ในเมล็ดที่มีความชื้นเริ่มต้น 8 และ 12 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ การปนเปื้อนอะฟลาทอกซินกับความงอกของเมล็ดที่มีความชื้นเริ่มต้น 12 เปอร์เซ็นต์นั้น พบว่ามีค่าสหสัมพันธ์เป็น –0.80 ส่วนเมื่อศึกษาความสัมพันธ์กับเมล็ดที่มีวิธีการเก็บรักษาที่แตกต่างกันพบว่า ความชื้นของเมล็ดมีความสัมพันธ์กับการปนเปื้อนสารอะฟลาทอกซินเมื่อเก็บรักษาเมล็ดในกระสอบปุ๋ย โดยมีค่าสหสัมพันธ์เป็น –0.81 ส่วนความชื้นกับความงอกของเมล็ดนั้น พบว่ามีความสัมพันธ์กัน เมื่อเก็บรักษาเมล็ดในกระสอบปุ๋ย เก็บเป็นฝักในกระสอบปุ๋ยและในกระสอบป่าน โดยมีค่าสหสัมพันธ์เป็น 0.93, 0.91 และ 0.94 ตามลำดับ และยังพบว่าความงอกกับการปนเปื้อนสารอะฟลาทอกซินมีความสัมพันธ์กัน เมื่อเก็บรักษาฝักในกระสอบป่าน โดยมีค่าสหสัมพันธ์เป็น -0.84 ส่วนการศึกษาความสัมพันธ์ของเมล็ดถั่วลิสงที่มีขนาดต่างกัน พบว่า ความชื้นของเมล็ดมีความสัมพันธ์กันในทางบวกกับความงอก โดยมีค่าสหสัมพันธ์เป็น 0.93 และ 0.96 ในเมล็ดเกรด 2 และ เกรด 3 ตามลำดับ
จากการทดลองนี้สามารถสรุปได้ว่า ความชื้นเริ่มต้นของเมล็ดถั่วลิสง วิธีการเก็บรักษาและขนาดเมล็ดมีผลต่อความชื้นเมล็ดขณะเก็บรักษาและความงอกของเมล็ด ขณะที่วิธีการเก็บรักษาเท่านั้นที่มีผลต่อการปนเปื้อนของสารอะฟลาทอกซินในเมล็ด ดังนั้นการลดความชื้น วิธีการเก็บรักษาและการคัดขนาดเมล็ดที่เหมาะสม ทำให้สามารถรักษาคุณภาพของถั่วลิสงไว้ได้