บทคัดย่องานวิจัย

การแก้ปัญหาพืชผักที่ถูกกักกันและสั่งห้ามนำเข้าจากประเทศไทย

วิชา ธิติประเสริฐ, สัญชัย ตันตยาภรณ์, สมคิด รื่นภาควุฒิ, บุษรา จันทร์แก้วมณี, จิราภรณ์ ล้วนปรีดา, พัจนา สุภาสูรย์, ปรียานุช ทิพยะวัฒน์, ชวเลิศ ตรีกรุณาสวัสดิ์, รัตตา สุทธยาคม, สวรรณมนท์ เหล็กเพ็ชร, สิทธิพร งามมรฑา, เกรียงไกร สุภโตษะ, อุมาพร สีวิลัย,

ผลงานวิจัยดีเด่นประจำปี 2548. กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 2548. 119 หน้า

2548

บทคัดย่อ

การแก้ปัญหาพืชผักที่ถูกกักกันและสั่งห้ามนำเข้าจากประเทศไทย

 

จากการตรวจพบการปนเปื้อนเชื้อ Salmonella spp. และ Escherichia coli ในผักสดจากประเทศไทย ส่งออกไปยังประเทศนอร์เว ฟินแลนด์ และไอซ์แลนด์ ได้ถูกรายงานผ่านทาง ระบบการเตือนภัยเร่งด่วนสำหรับอาหารมนุษย์และอาหารสัตว์ (Rapid Alert System for Food and Feed : RASFF) ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม –กรกฎาคม 2548 เป็นจำนวน 24รายการ ส่งผลให้ประเทศนอร์เว ประกาศห้ามนำเข้าสินค้าผักจากประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2548 เป็นต้นมา อีกทั้งได้มีจดหมายเตือนจาก DG-SANCO, Health and Consumer Protection ของสหภาพยุโรปถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขอให้ประเทศไทยดำเนินการแก้ไข นอกจากนี้ประเทศฟินแลนด์ยังได้ออกมาตรการควบคุม โดยกำหนดให้สินค้าผักทุกชนิดจากประเทศไทยต้องมีใบรับรองปลอดเชื้อจุลินทรีย์กำกับ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548 เป็นต้นไป ขณะที่ประเทศไอซ์แลนด์  ได้ออกมาตรากรควบคุม ตั้งแต่วันที่ 25สิงหาคม 2548กำหนดให้สินค้าผักทุกชนิดจากประเทศไทยต้องมีใบรับรองปลอดเชื้อจุลินทรีย์

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดทำให้นานาชาติเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยในการบริโภคผักผลไม้ รวมทั้งสินค้าอื่นๆ จากประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจส่งออกผัก ผลไม้ และนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลกของรัฐบาลไทย กรมวิชาการเกษตรได้จัดประชุมผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำแผนการควบคุมและตรวจสอบเชื้อจุลินทรีย์ E.coli, Salmonella spp. ในผักสดก่อนการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร และโดยความร่วมมือของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จัดให้มรการอบรมเกษตรกรและผู้ประกอบการให้ตระหนักถึงพิษภัยของเชื้อ  รวมทั้งการป้องกันกำจัดเชื้ออีกด้วย จากแผนมาตรการดังกล่าว กรมวิชาการเกษตรได้ออกประกาศกรมวิชาการเกษตร รวม 5ฉบับ กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการส่งออกผักรวม 23ชนิด ได้แก่ ผักชีไทย ผักชีฝรั่ง ใบกระเพรา ใบโหระพา ผักแขยง ใบสะระแหน่ ผักแพรว ต้นหอม ผักคื่นไช่ ใบกุยไช่ ดอกกุยไช่ ชะอม ตะไคร้ ผักบุ้ง ผักแว่น ผักกระเฉด ใบบัวบก ใบชะพลู ผักโขมแดง ถั่วฝักยาว หน่อไม้ฝรั่ง พริกขี้หนู และผักปลัง ให้มีการผลิตอย่างเป็นระบบที่สามารถทวนสอบการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ในกระบวนการผลิตได้ ตั้งแต่แปลงเกษตรกรที่ต้องได้รับรองระบบ GAP โรงคัดบรรจุที่ได้การรับรองกระบวนการผลิต GMP และผู้ส่งออกจดทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตร สำหรับผู้ที่ไม่อยู่ในระบบดังกล่าวจะสามารถส่งออกได้ โดยจะต้องส่งสินค้าตรวจเชื้อจุลินทรีย์ทุกครั้งก่อนการส่งออก

จากการติดต่อประสานงานของคณะอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการเกษตร) ประจำสหภาพยุโรป ได้ประสานงานในการจัดส่งแผนการดำเนินงานและมาตรการควบคุมในการผลิตพืชผักสดในการส่งออกของกรมวิชาการเกษตร จนประเทศนอร์เว ยกเลิกประกาศห้ามนำเข้าผักจากประเทศไทย ตั้งแต่ 24 พฤศจิกายน 2549 ซึ่งส่งผลให้กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปยอมรับในแผนปฏิบัติการควบคุมดังกล่าวด้วยและยังพบว่าหลังการประกาศใช้มาตรการควบคุมนี้ คุณภาพผักสดดีขึ้นอย่างมาก มีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์น้อยลง จากตัวอย่างผักสดที่ส่งมาตรวจเพื่อการรับรองเชื้อจุลินทรีย์ ตั้งแต่เดือน กันยายน 2548ถึง เดือน ธันวาคม 2548 พบว่าปริมาณการตรวจพบเชื้อจุลินทรีย์มีแนวโน้มลดลง โดยตรวจพบเชื้อ Salmonella spp.  70, 60, 32 และ 22ตัวอย่าง จากปริมาณที่ส่งตรวจทั้งหมด 738, 1,314, 1,534 และ 2,986 ตัวอย่าง ตามลำดับ คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่พบ 9.5, 4.6, 2.1และ 0.7 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้สำนักวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร ยังได้ทำการสุ่มตรวจติดตามผักสดก่อนการส่งออก ณ ที่ด่านดอนเมือง จำนวน 359 ตัวอย่าง พบว่าผักที่มีความเสี่ยงที่พบเชื้อทากที่สุด คือ สะระแหน่ พบเชื้อ 83 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนตัวอย่างที่สุ่มตรวจ รองลงมาคือ กะเพรา ผักที่ตรวจไม่พบเชื้อ Salmonella spp., E.coli คือ ดอกกุยไช่  ใบกุยไช่  ผักชีไทย  คื่นไช่  หน่อไม้ฝรั่ง และถั่วฝักยาว