บทคัดย่องานวิจัย

การศึกษาเบื้องต้นการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชสำหรับการนำเข้าแอปเปิ้ลจากต่างประเทศ

อุดร อุณหวุฒิ, วลัยกร รัตนเดชากุล, สุรพล ยินอัศวพรรณ, ณัฎฐพร อุทัยมงคล, จำลอง ลภาสาธุกุล และชลธิชา รักใคร่

รายงานผลงานวิจัยเรื่องเต็มปี 2548. สำนักวิจัยพัฒนาการอารักษาพืช กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 2549. 1820 หน้า.

2549

บทคัดย่อ

การศึกษาเบื้องต้นการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชสำหรับการนำเข้าแอปเปิ้ลจากต่างประเทศ

 

ผลการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของการนำเข้าแอปเปิลจากต่างประเทศทุกแหล่งทั่วโลกเข้ามาในราชอาณาจักร โดยการค้นคว้าศึกษาข้อมูลของศัตรูแอปเปิลทั้งในและต่างประเทศจากฐานข้อมูล ตำราวิชาการ วารสารทางวิชาการ รายงานการประชุมและสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับศัตรูแอปเปิลจากต่างประเทศ และเอกสารวิชาการที่สามารถสืบค้นข้อมูลจากแหล่งต่างๆทั่วโลกเกี่ยวกับศัตรูแอปเปิลที่มีรายงานพบในต่างประเทศซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุดที่มีรายงาน ณ ปัจจุบันนี้ ผลการวิเคราะห์ในขั้นตอนการจำแนกสิ่งมีชีวิต (organisms) ที่อาศัยอยู่ร่วมกันกับแอปเปิลทั้งที่เป็นศัตรูพืชและไม่เป็นศัตรูพืชของแอปเปิลพบว่ามีจำนวน 336 ชนิดได้แก่ arthropod โรค และวัชพืช ผลการวิเคราะห์ในขั้นตอนการจำแนกประเภทศัตรูพืช (pests categorization) พบว่าศัตรูแอปเปิลจากต่างประเทศและมีโอกาสติดเข้ามากับผลแอปเปิลสดจำนวน 143 ชนิด ซึ่งศัตรูแอปเปิลดังกล่าวนั้นได้นำมาวิเคราะห์และศึกษาในขั้นตอนการประเมินความเสี่ยงศัตรูพืช (pest risk assessment ) ผลการประเมินความเสี่ยงศัตรูพืชแต่ละชนิดโดยการประเมินโอกาสเป็นไปได้ที่ศัตรูพืชจะแพร่เข้ามา (introduction) การเจริญแพร่พันธุ์อย่างถาวร (establishment) การแพร่ระบาด (spread) และศักยภาพที่จะก่อให้เกิดความสำคัญทางเศรษฐกิจหลังจากเข้ามาในประเทศไทยแล้วพบว่า เป็นศัตรูพืชกักกัน (quarantine pest) ที่มีความเสี่ยง 86ชนิด ในจำนวนนี้เป็นศัตรูพืชกักกันมีความเสี่ยงสูง 13ชนิด (high risk) ผลสรุปจากการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชได้นำมาจัดกฎระเบียบด้านสุขอนามัยพืชเรื่อง เงื่อนไขการนำผลแอปเปิลสดจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร และมาตรการจัดการความเสี่ยงศัตรูพืชก่อนส่งออก (risk management measures) ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุระดับการป้องกันศัตรูพืชกักกันที่เหมาะสมและสอดคล้องความตกลงว่าด้วยการบังคับใช้มาตรการสุขอนามัยพืช (Agreement on the Application of Sanitary and Phytosanitary Measure, SPS Agreement)