บทคัดย่องานวิจัย

การคัดเลือกสายพันธุ์จุลินทรีย์ศักยภาพสูงเบื้องต้นเพื่อการควบคุมราสาเหตุโรคพืชหลังการเก็บเกี่ยวด้วยชีววิธี

คนึงนิจ บุศราคำ อนวัช สุวรรณกุล และศิริพงษ์ พัฒนพิบูลย์

การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 5. 26-29 เมษายน 2548 ณ โรงแรมเวลคัมจอมเทียนบีช พัทยา จังหวัด ชลบุรี. เลขหน้า 261. (276 หน้า).

2548

บทคัดย่อ

การคัดเลือกสายพันธุ์จุลินทรีย์ศักยภาพสูงเบื้องต้นเพื่อการควบคุมราสาเหตุโรคพืชหลังการเก็บเกี่ยวด้วยชีววิธี จากการคัดเลือกสายพันธุ์จุลินทรีย์ที่มีศักยภาพในการควบคุมโรคเน่าหลังการเก็บเกี่ยวผลไม้สด โดยใช้จุลินทรีย์ 3 กลุ่ม ได้แก่ แบคทีเรีย (Bacillus amyloliquifaciens TISTR1114, TISTR901, P1, P9, PUT14 และ PUT19 และ B.subtillis TISTR1, TISTR8 และ สายพันธุ์การค้า Laminar@), ยีสต์ (Candida haemulonii 5034, Pichia tannicolo 5035 และ 5036, Rhodotorula graminis 5124, Candida tropicalis 5144 และ 5145, Pichia kudriavzevii 5147, P.kluyveri 5150 และ Haseniaspora uvarum 5153 ที่เก็บรักษาอยู่ในศูนย์เก็บรวบรวมสายพันธุ์จุลินทรีย์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และรา (Trichoderma harzianum และ T.pseudokonigii) จากแหล่งธรรมชาติ รวมทั้งสิ้น 20 สายพันธุ์ ด้วยวิธี modified-plate method โดยใช้เชื้อรา 5 ชนิด ได้แก่ Colletotrichum gloeosporioides, Penicillium digitatum, Phomopsis sp., Lasiodiplodia theobromae และ Phytophthora palmivora ที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคเน่าหลังการเก็บเกี่ยวของผลไม้สด ในการทดสอบ พบว่า จุลินทรีย์แต่ละชนิดแสดงประสิทธิภาพในการควบคุมการเจริญของเชื้อแตกต่างกันขึ้นกับชนิดของราที่ใช้ทดสอบ ในกลุ่มแบคทีเรีย พบว่า B.amyloliquifaciens PUT14 สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของราสาเหตุโรคเน่าทั้ง 5 ชนิดได้สูงสุด 59.2% โดยเฉลี่ย ในกลุ่มยีสต์ พบว่า P.kudriavzevii 5147 สามารถควบคุมราสาเหตุโรคเน่าหลังการเก็บเกี่ยวสูงสุด 55.4% โดยเฉลี่ย ในขณะที่จุลินทรีย์ในกลุ่มรา T.harzianumและ T.pseudokonigii สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของราสาเหตุโรคพืชทั้ง 5 ชนิดได้สูงที่สุดคือ 76.4 และ 75.9% โดยเฉลี่ย ตามลำดับ