บทคัดย่องานวิจัย

การใช้สารสกัดจากดีปลีเพื่อควบคุมโรคแอนแทรคโนสในผลมะม่วงหลังการเก็บเกี่ยว

วนัสนันท์ สะอาดล้วน และพิทยา สรวมศิริ

การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 5. 26-29 เมษายน 2548 ณ โรงแรมเวลคัมจอมเทียนบีช พัทยา จังหวัด ชลบุรี. เลขหน้า 259

2548

บทคัดย่อ

การใช้สารสกัดจากดีปลีเพื่อควบคุมโรคแอนแทรคโนสในผลมะม่วงหลังการเก็บเกี่ยว  มะม่วงเป็นผลไม้ส่งออกที่สำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทย แต่ปัญหาที่สำคัญของการส่งออกคือ อาการผลเน่าเนื่องจากโรคแอนแทรคโนส และปัจจุบันได้มีความเข้มงวดในการใช้สารเคมีควบคุมโรคมากขึ้น จึงควรศึกษาแนวทางใหม่ในการใช้สารสกัดจากพืชมาทดแทนการใช้สารเคมี ทำการศึกษาโดยสกัดสารออกฤทธิ์จากผลดีปลีแห้ง Java long pepper (Piper retrofractum Vahl.) ด้วยตัวทำละลายอินทรีย์ คือ เอทธานอล 95% ได้ปริมาณสารสกัดหยาบเท่ากับ 12.1% หลังจากนั้นทำการแยกสารองค์ประกอบในสารสกัดหยาบด้วย TLC (Thin layer chromatography) โดยใช้ตัวทำละลายเคลื่อนที่ คือ เฮกเซน : เอทธิลอะซีเตท : เมทานอล ในอัตราส่วนต่างๆ ก่อนตรวจสอบทางชีววิทยา (TLC-bioassay) โดยใช้เชื้อรา Cladosporium cladosporioides พบบริเวณต้านเชื้อรา (clear zone) ที่ชัดเจนที่สุด 2 บริเวณ คือบริเวณที่มีค่า Rf เท่ากับ 0.12-0.36 และ 0.51-0.72 เพื่อตรวจสอบฤทธิ์ควบคุมเชื้อราสาเหตุโรคแอนแทรคโนส ทำการแยกสารองค์ประกอบบริเวณที่ออกฤทธิ์ดีข้างต้นเพื่อให้บริสุทธิ์ขึ้นด้วยวิธี Column chromatography (CC) ได้สารกลุ่มสารที่เรียกว่า Dp นำไปทดสอบความเป็นพิษต่อการเจริญเติบโตของเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides โดยเปรียบเทียบที่ความเข้มข้น 5 ระดับ คือ 0, 250, 500, 1,000 และ 2,000 ppm และเปรียบเทียบกับสารเคมีเบนโนมิลเข้มข้น 500 ppm พบว่าที่ระดับความเข้มข้น 500 ppm ขึ้นไปสามารถยับยั้งการเจริญของเส้นใยเชื้อราได้ 100% และที่ระดับความเข้มข้น 250 ppm สามารถยับยั้งได้ 89.91% แสดงถึงประสิทธิภาพที่ดีมากของสารสักดจากดีปลีที่จะนำไปทดแทนสารเคมีในการควบคุมโรคผลเน่าหลังการเก็บเกี่ยวมะม่วงต่อไป