บทคัดย่องานวิจัย

ผลของอุณหภูมิต่อสมบัติทางความร้อนของมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองระหว่างการเก็บรักษา

ระจิตร สุวพานิช และเมธินี เห่วซึ่งเจริญ

การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 5. 26-29 เมษายน 2548 ณ โรงแรมเวลคัมจอมเทียนบีช พัทยา จังหวัด ชลบุรี. เลขหน้า 243 (276 หน้า)

2548

บทคัดย่อ

ผลของอุณหภูมิต่อสมบัติทางความร้อนของมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองระหว่างการเก็บรักษา การศึกษาผลของอุณหภูมิต่อสมบัติทางความร้อนซึ่ง ได้แก่ ค่าความร้อนจำเพาะ และค่าการนำความร้อนของมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองระหว่างการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5, 13 และ 25+2 องศาเซลเซียส โดยใช้เครื่อง Differential Scanning Calorimeter (DSC) ตามวิธีมาตรฐาน ASTM-E1952-98 พบว่า ค่าความร้อนจำเพาะของเนื้อมะม่วงที่อุณหภูมิ 25+2 องศาเซลเซียส มีค่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 6 วัน เนื่องจากผลมะม่วงสุก ขณะที่มะม่วงเก็บรักษาที่ 13 องศาเซลเซียสจะมีค่าเพิ่มขึ้นหลังจากผ่านไป 15 วัน ในอัตราการเพิ่มที่ช้ากว่าการเก็บรักษาที่ 25+2 องศาเซลเซียส ส่วนค่าความร้อนจำเพาะของมะม่วงที่เก็บรักษาที่ 5 องศาเซลเซียส มีแนวโน้มค่อนข้างคงที่ สำหรับค่าการนำความร้อนของเนื้อมะม่วงจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีค่าสูงสุดเมื่อเก็บรักษานาน 6 วัน ที่อุณหภูมิ 25+2 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ผลมะม่วงสุกเต็มที่ ในขณะที่การเก็บที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส ค่าการนำความร้อนมีแนวโน้มลดลงในช่วง 5 วันแรกของการเก็บรักษาและค่อยข้างคงที่ในช่วง 15 วันหลังจากนั้นจะเพิ่มขึ้น แต่ด้วยอัตราที่ช้ากว่าการเก็บรักษาที่ 25+2 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาจากค่าการรั่วไหลของอิเลคโตรไลท์พบว่ามีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมากกว่าค่าของเนื้อมะม่วงที่เก็บที่ 25+3 องศาเซลเซียส ในขณะที่การเก็บรักษาที่ 5 องศาเซลเซียส ค่าการนำความร้อนของเนื้อมะม่วงจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลา 5 วัน หลังจากนั้นจะลดลงและค่อนข้างคงที่ตลอด 25 วันของการเก็บรักษา ส่วนการรั่วไหลของอิเลคโตรไลท์ของเนื้อมะม่วงที่อุณหภูมินี้ค่อนข้างคงที่ ทั้งนี้การเพิ่มของสมบัติความร้อนจะสัมพันธ์กับค่าการรั่วไหลของอิเลคโตรไลท์ในเชิงบวก โดยพบอาการสะท้านหนาวของมะม่วงที่เก็บที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียสหลังจากผ่านไป 5 วัน ส่วนมะม่วงที่เก็บที่ 13 องศาเซลเซียส จะแสดงอาการสะท้านหนาวหลังจากเก็บรักษานาน 20 วัน จะเห็นได้ว่าอาการสะท้านหนาวของมะม่วงจะสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงสมบัติทางความร้อน ดังนั้นอาจจะใช้สมบัติความร้อนในการทำนายอาการสะท้ายหนาวของมะม่วงได้