บทคัดย่องานวิจัย

ผลของสภาพบรรยากาศออกซิเจนความเข้มข้นสูงต่อการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของผลลิ้นจี่พันธุ์จักรพรรดิ

บัณฑิตา ยงค์; อภิรดี อุทัยรัตนกิจ; ศิริชัย กัลยาณรัตน์ และอดิศักดิ์ เอกโสวรรณ

การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 5. 26-29 เมษายน 2548 ณ โรงแรมเวลคัมจอมเทียนบีช พัทยา จังหวัด ชลบุรี. เลขหน้า 238 (276 หน้า)

2548

บทคัดย่อ

ผลของสภาพบรรยากาศออกซิเจนความเข้มข้นสูงต่อการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของผลลิ้นจี่พันธุ์จักรพรรดิ  การเกิดสีน้ำตาลของเปลือกลิ้นจี่เป็นปัญหาที่สำคัญภายหลังการเก็บเกี่ยว การศึกษาผลของสภาพ superstmospheric oxygen ต่อการเกิดสีน้ำตาลของเปลือกลิ้นจี่พันธุ์จักรพรรดิเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำโดยทำการเก็บรักษาผลลิ้นจี่ในสภาพที่ใช้ก๊าซออกซิเจนความเข้มข้นร้อยละ 40, 60 และ 80 เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 95 จากการทดลองพบว่า ผลลิ้นจี่ที่เก็บรักษาในสภาพ superatmospheric oxygen มีการเกิดสีน้ำตาลของเปลือก การเปลี่ยนแปลงค่า a การสูญเสียน้ำหนัก การสูญเสียปริมาณแอนโทไซยานิน และกิจกรรมเอนไซม์ฟินิลอะลานินแอมโมเนียไลเอส (PAL) น้อยกว่าผลลิ้นจี่ที่เก็บรักษาในสภาพบรรยากาศปกติ แต่การเก็บรักษาในสภาพ superatmospheric oxygen พบว่ามีการสะสมปริมาณของก๊าซเอทานอลสูงกว่าลิ้นจี่ที่เก็บรักษาในสภาพบรรยากาศปกติ ดังนั้นการเก็บรักษาลิ้นจี่ในสภาพบรรยากาศที่มีก๊าซออกซิเจนความเข้มข้นร้อยละ 40 สามารถควบคุมคุณภาพได้นานที่สุด คือ 16 วัน