บทคัดย่องานวิจัย

คุณภาพทางกายภาพและเคมีหลังการเก็บเกี่ยวของผลสตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 72

ชัยพิชิต เชื้อเมืองพาน และดนัย บุณยเกียรติ

การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 5. 26-29 เมษายน 2548 ณ โรงแรมเวลคัมจอมเทียนบีช พัทยา จังหวัด ชลบุรี. เลขหน้า 233 (276 หน้า)

2548

บทคัดย่อ

คุณภาพทางกายภาพและเคมีหลังการเก็บเกี่ยวของผลสตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 72 การศึกษาคุณภาพทางกายภาพและส่วนประกอบทางเคมีของผลสตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 72 ที่เก็บเกี่ยวในระยะของการพัฒนาสีผิว 25, 50 และ 75 เปอร์เซ็นต์ และเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 0, 5 และ 10 องศาเซลเซียส พบว่า เมื่อเก็บรักษาได้ 4 วัน ระยะของการเก็บเกี่ยวไม่มีผลกระทบต่อการสูญเสียน้ำหนักสดและอายุการเก็บรักษาของผลสตรอเบอรี่ ค่าความแน่นเนื้อของผลลดลงเมื่อมีการพัฒนาสีผิวมากขึ้น ผลสตรอเบอรี่ที่เก็บเกี่ยวในระยะการพัฒนาสีผิว 75 เปอร์เซ็นต์ มีปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ วิตามินซี และแอนโธไซยานินสูงกว่าผลที่เก็บเกี่ยวในระยะการพัฒนาสีผิว 50 และ 25 เปอร์เซ็นต์ ในขณะเดียวกันผลที่เก็บเกี่ยวในระยะการพัฒนาสีผิว 25 เปอร์เซ็นต์ มีปริมาณกรดที่ไตเตรทได้สูงที่สุด สำหรับสีผิวและสีเนื้อ พบว่า การเก็บเกี่ยวที่ระยะการพัฒนาสีผิว 50 และ 75 เปอร์เซ็นต์ ผลสตรอเบอรี่สามารถพัฒนาเป็นสีแดงทั้งผลได้ดีกว่าการเก็บเกี่ยวที่ระยะ 25 เปอร์เซ็นต์ หลังจากที่เก็บรักษาผลสตรอเบอรี่ที่อุณหภูมิ 0, 5 และ 10 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 4 วัน พบว่า ผลสตรอเบอรี่ที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส มีการสูญเสียน้ำหนักสดและปริมาณแอนโธไซยานินมากที่สุด และทำให้ผลสตรอเบอรี่มีค่าความแน่นเนื้อน้อยที่สุด การเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5 และ 10 องศาเซลเซียส ทำให้ผลสตรอเบอรี่มีปริมาณกรดที่ไตเตรทได้และวิตามินซีสูงกว่าที่อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส แต่อุณหภูมิที่ใช้ในการเก็บรักษาไม่มีผลกระทบต่อปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ของผลสตรอเบอรี่ ผลสตรอเบอรี่ที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิสูงสามารถพัฒนาสีผิวและสีเนื้อเป็นสีแดงได้ดีกว่าการเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิต่ำ แต่มีอายุการเก็บรักษาสั้น