บทคัดย่องานวิจัย

การศึกษาปริมาณสารตกค้างในผลส้มโอพันธุ์ทองดี

บัววรุณ จุ้ยเพ็ชร; อรพิน เกิดชูชื่น และณัฏฐา เลาหกุลจิตต์

การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 5. 26-29 เมษายน 2548 ณ โรงแรมเวลคัมจอมเทียนบีช พัทยา จังหวัด ชลบุรี. เลขหน้า 228

2548

บทคัดย่อ

การศึกษาปริมาณสารตกค้างในผลส้มโอพันธุ์ทองดี การศึกษาปริมาณสารตกค้างในผลส้มโอพันธุ์ทองดี เพื่อเปรียบเทียบสารตกค้างในผลส้มโอของเกษตรกรอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม จำนวน 30 ราย โดยใช้วิธีการตรวจสอบแบบรวดเร็ว 2 วิธี คือ การใช้ชุดทดสอบจีที (GT) ของกองอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และวิธีการวิเคราะห์พิษตกค้างสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบรวดเร็ว (Rapid Bioassay for Pesticide Residue : RBPR) ผลการศึกษาการใช้ชุดทดสอบจีทีในส่วนของเปลือก และเนื้อ (ส่วนที่บริโภค) ของส้มโอ พบว่า ในเปลือกส้มโอมีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในระดับที่ไม่ปลอดภัยจำนวน 14 ราย หรือร้อยละ 53 ของเกษตรกรทั้งหมด ส่วนเนื้อที่บริโภคมีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอยู่ในระดับที่ปลอดภัยทั้งหมด หรือร้อยละ 100 อย่างไรก็ตาม เมื่อนำเปลือกและเนื้อส้มโอมาวิเคราะห์สารเคมีกำจัดศัตรูพืชโดยวิธี RBPR พบว่า ให้ผลไปในทำนองเดียวกับการใช้ชุดทดสอบจีที โดยส่วนของเปลือกที่มาจากสวนที่มีระดับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในระดับไม่ปลอดภัยจะมี %inhibition ที่มีค่ามากกว่าร้อยละ 50 และส่วนของเนื้อส้มโอที่นำมาบริโภคมี %inhibition ที่มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 5.82+2.2 อย่างไรก็ตามทุกตัวอย่างที่นำมาศึกษามีการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งหมด โดยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในส่วนของเปลือกสูงกว่าส่วนเนื้อที่บริโภคได้ ประมาณ 9-12 เท่า