บทคัดย่องานวิจัย

ตัวแบบเชิงคณิตศาสตร์ของค่าความแน่นเนื้อของผลสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย

จินตนา จูมวงษ์ และอดิศักดิ์ จูมวงษ์

การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 5. 26-29 เมษายน 2548 ณ โรงแรมเวลคัมจอมเทียนบีช พัทยา จังหวัด ชลบุรี. เลขหน้า 225 (276 หน้า)

2548

บทคัดย่อ

ตัวแบบเชิงคณิตศาสตร์ของค่าความแน่นเนื้อของผลสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย การศึกษาตัวแบบเชิงคณิตศาสตร์ของค่าความแน่นเนื้อของผลสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย (Ananas comosus cv. Smooth Cayenne) เก็บเกี่ยวที่อายุ 110, 120, 130, 140, 150 และ 160วันหลังดอกบานบริบูรณ์ ในฤดูร้อน (เมษายน-พฤษภาคม) ฤดูฝน (มิถุนายน-กรกฎาคม) และฤดูหนาว (พฤศจิกายน-ธันวาคม) ปี พ.. 2545 การเตรียมตัวอย่างโดยเลือกผลสับปะรดที่มีขนาดสม่ำเสมอกัน ทำการวัดความยาวของผล และวัดจากจุดกึ่งกลางผลไปข้างละ 4.5 เซนติเมตร ตัดส่วนเกินของผลด้านหัวท้ายออก ตัดผลสับปะรดออกเป็น 3 ส่วน คือส่วนล่าง ส่วนกลาง และส่วนบนของผล ซึ่งหนาส่วนละ 3 เซนติเมตร ทำการวัดค่าความแน่นเนื้อของผลสับปะรดทุกส่วนๆ ละ 3 ตำแหน่ง โดยวัดจากแกนไปตำแหน่งละ 1.5 เซนติเมตร คือ วงใน วงกลาง วงนอก ตามลำดับ โดยเครื่องวัดค่าความแน่นเนื้อ Stable Micro System model TAXT2I โดยวัดค่าแรงต้านการกดและบันทึกค่าเป็นนิวตัน นำค่าที่วัดได้มาหาตัวแบบเชิงคณิตศาสตร์ของค่าความแน่นเนื้อในแต่ละตำแหน่ง พบว่า ในฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว ตัวแบบเชิงคณิตศาสตร์ของค่าความแน่นเนื้อมีค่าความสัมพันธ์แบบพหุนาม มีค่าความเชื่อถือได้สูงสุด ร้อยละ 73 ร้อยละ 80 และร้อยละ 75 ตามลำดับ และมีช่วงอัตราการเปลี่ยนแปลงค่าความแน่นเนื้อเฉลี่ยในช่วงอายุการเก็บเกี่ยวทางการค้า คือ –0.38, -0.18 และ –0.13 ตามลำดับ