บทคัดย่องานวิจัย

ผลของระยะเก็บเกี่ยวและการลดอุณหภูมิต่อคุณภาพและอายุการเก็บรักษาของเห็ดนางรมฮังการี

ชัยชนะ นุ่มเส้ง และประภาพร ตั้งกิจโชติ

การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 5. 26-29 เมษายน 2548 ณ โรงแรมเวลคัมจอมเทียนบีช พัทยา จังหวัด ชลบุรี. เลขหน้า 165 (276 หน้า)

2548

บทคัดย่อ

ผลของระยะเก็บเกี่ยวและการลดอุณหภูมิต่อคุณภาพและอายุการเก็บรักษาของเห็ดางรมฮังการี การศึกษาผลของระยะเก็บเกี่ยวร่วมกับการลดอุณหภูมิของเห็ดนางรมฮังการี วางแผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ (CRD) จัดสิ่งทดลองแบบแฟคทอเรียล ประกอบด้วย 2 ปัจจัย คือ ระยะเก็บเกี่ยว 2 ระยะ ได้แก่ ระยะดอกบาน 70-80% และ 90-100% ร่วมกับการลดอุณหภูมิ 3 วิธี คือ ไม่ลดอุณหภูมิ (control) ลดอุณหภูมิด้วยน้ำแข็ง และห้องเย็น (5 องศาเซลเซียส) เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ก่อนบรรจุถาดโฟมหุ้มด้วยพลาสติกฟิล์ม (PVC) เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 9 วัน พบว่า เมื่อเก็บรักษาเป็นเวลา 3 วัน การลดอุณหภูมิด้วยน้ำแข็ง ทำให้ดอกบาน 70-80% สูญเสียน้ำหนักมากที่สุด (2.13%) ในขณะที่การลดอุณหภูมิด้วยห้องเย็น ทำให้ดอกบาน 90-100% สูญเสียน้ำหนักน้อยที่สุด (1.02%) ส่วนดอกเห็ดทั้งสองระยะที่ไม่ผ่านการลดอุณหภูมิไม่มีผลต่อความแน่นเนื้อของหมวกและก้านดอกเห็ด หมวกเห็นมีสีคล้ำ (ค่า L value ลดลง) และเหลืองมากขึ้น (ค่า b value เพิ่มขึ้น) ส่วนดอกบาน 70-80% มีปริมาณคาร์โบไฮเดรทที่ไม่อยู่ในรูปโครงสร้าง (TNC) สูงกว่าดอกบาน 90-100% และกิจกรรมของเอนไซม์โพลีฟีนอลออกซิเดส (PPO) ของดอกเห็ดเพิ่มสูงขึ้นในวันที่ 3 หลังเก็บรักษา โดยดอกบาน 90-100% มีกิจกรรมของเอนไซม์ดังกล่าวสูงกว่าดอกบาน 70-80% และการลดอุณหภูมิด้วยน้ำแข็งมีกิจกรรมของเอนไซม์โพลีฟีนอลออกซิเดสมากที่สุด (0.0219 หน่วย/มิลลิกรัมโปรตีน)