บทคัดย่องานวิจัย

ผลของการใช้สารเคลือบผิวต่อการลดอาการขั้วดำในพริกขี้หนูแดงพันธุ์ซุปเปอร์ฮอตเพื่อการส่งออก

อัจฉรา ทักษิณะมณี วาริช ศรีละออง อภิรดี อุทัยรัตนกิจ และศิริชัย กัลยาณรัตน์

การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 5. 26-29 เมษายน 2548 ณ โรงแรมเวลคัมจอมเทียนบีช พัทยา จังหวัด ชลบุรี. เลขหน้า 165 (276 หน้า)

2548

บทคัดย่อ

ผลของการใช้สารเคลือบผิวต่อการลดอาการขั้วดำในพริกขี้หนูแดงพันธุ์ซุปเปอร์ฮอตเพื่อการส่งออก พริกขี้หนูแดงสด เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีปริมาณการส่งออกสูงกว่า 100 ล้านบาทต่อปี แต่การผลิตเพื่อการส่งออกประสบปัญหาด้านคุณภาพ คือ การเกิดลักษณะขั้วดำของพริกสดทำให้ไม่สามารถส่งออกได้ ดังนั้นในการศึกษาครั้งนี้จึงใช้สารเคลือบผิวเพื่อลดการเกิดลักษณะขั้วดำของพริกขี้หนูแดงพันธุ์ซุปเปอร์ฮอต ทำการทดลองโดยใช้สารเคลือบผิวทั้งหมด 3 ชนิดคือ สารละลายไคโตซาน ความเข้มข้นร้อยละ 0.5 Starfresh เบอร์ 10 ความเข้มข้นร้อยละ 50 และ Gustec (Sucrose fatty ester) ความเข้มข้นร้อยละ 0.5 หลังจากการเคลือบผิวเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 8 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 85 เปอร์เซ็นต์ พบว่า การใช้สารเคลือบผิว Gustec สามารถชะลอการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของพริกสดได้ดีที่สุด โดยสามารถลดการเกิดลักษณะขั้วดำ ลดการสูญเสียน้ำหนัก ส่วนอัตราการหายใจในทุกชุดการทดลองมีค่าลดลงตลอดอายุการเก็บรักษาและไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ ปริมาณวิตามินซีในทุกชุดการทดลองมีแนวโน้มลดลงตลอดอายุการเก็บรักษาโดยพบว่าการเคลือบผิวด้วยสารละลายไคโตซาน และ Starfresh เบอร์ 10 มีปริมาณวิตามินซีสูงกว่าการเคลือบผิวด้วย Gustec เล็กน้อย จากการทดลองชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของพริกสดเกิดขึ้นเนื่องจากการสูญเสียน้ำเป็นหลักทำให้เกิดลักษณะขั้วดำ โดยการเกิดขั้วดำไม่ส่งผลต่ำการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของผลพริก